ขสมก. และ รถสาธารณะพลวัต 2017

ในที่สุด หลังจากเรื่องราวอื้อฉาวของการรับมอบรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ที่ประมูลมาได้อย่างทุลักทุเลของบริษัท (จีนในร่างทรง) ไทยที่ชื่อบริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ก็ทำท่าจะไม่มีการรับ-ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวเกิดขึ้น (เว้นแต่จะมีปรากฏการณ์พิเศษเกิดขึ้น)


วิษณุ โชลิตกุล

 

ในที่สุด หลังจากเรื่องราวอื้อฉาวของการรับมอบรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ที่ประมูลมาได้อย่างทุลักทุเลของบริษัท (จีนในร่างทรง) ไทยที่ชื่อบริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ก็ทำท่าจะไม่มีการรับ-ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวเกิดขึ้น (เว้นแต่จะมีปรากฏการณ์พิเศษเกิดขึ้น)

โครงการจัดซื้อรถเมล์ของ ขสมก. เป็นตัวอย่างความไร้สมรรถภาพในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐไทยที่ชัดเจน เพราะดำเนินการมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาล เปลี่ยนไปมา จนกระทั่งรถประจำทางของ ขสมก. อันเป็นรถสาธารณะที่จำเป็นสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันรุ่นสุดท้ายที่ใช้งานอยู่ มีอายุคร่ำคร่านานกว่า 20 ปีแล้ว แทบจะหมดสภาพในการให้บริการ โดยไม่มีคำตอบชัดเจนว่า จะมีรถรุ่นใหม่ให้ประจำการบริการได้เมื่อใด ล่าสุด โครงการ 2 ทศวรรษ ดูเหมือนจะถูกทำให้ล่าช้าไร้คำตอบออกไปอีก เพราะนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพิ่งออกมาเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ขสมก. ทบทวนความเหมาะสมของแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ รวมถึงประเภทเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ในการสร้างรายได้เพิ่มและฐานะการเงินขององค์กรจะดีขึ้นอย่างไร โดยจะเร่งสรุปใน 1-2 เดือนนี้เพื่อเดินหน้าในการจัดหารถใหม่ต่อไป

ตามแผนเดิม มีการระบุว่า ให้ขสมก.ดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท (โดย 489 คันแรก คือ ส่วนหนึ่งของรถทั้งหมด)  โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ 1) จัดซื้อรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จำนวน 200 คัน  2) นำรถเก่าที่มีสภาพดีมาปรับปรุงสภาพจำนวน 672 คัน ซึ่งจะใช้วงเงินทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาท

แผนดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกต (ไม่รู้โดยใคร แต่น่าจะเป็นนายอาคมนั่นเอง) ว่า จนถึงบัดนี้ การจัดซื้อรถเมล์  NGV 489 คัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะที่ในส่วนของรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน  ก็มีข้อสังเกต เรื่องความเป็นไปได้ของโครงการ และ  3) ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือก เช่น ระบบไฮบริด จึงให้ทบทวนใหม่

สรุปก็คือ หลังจากใช้เวลาผ่านมามากกว่า 10 ปี แผนจัดซื้อรถ ขสมก.เดิมก็ใช้การไม่ได้อีกต่อไป เป็นความสูญเปล่าของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างสิ้นเชิง

คำถามคือ อีกนานเพียงใดที่ขสมก.จะได้รถเมล์ใหม่มาประจำการแทนรถเก่าที่หมดสภาพการใช้งานไปนานแล้วเสียที

คำตอบยังไม่มี แถมยังจะล่องลอยในสายลมต่อไป

สำหรับหน่วยงานรัฐ ความล่าช้า ไม่ใช่ความเสียหาย เพราะไม่มีใครกระทำความผิด คนที่ทำงานล่าช้า ไม่ถือว่าขาดประสิทธิภาพ เพราะสำหรับระบบราชการไทยนั้น ดูเหมือนว่า ยึดถือตามตำราของแมกซ์ เวเบอร์ ชัดเจนว่า การไม่ลงมือทำ และไม่ยอมตัดสินใจอะไรลงไปเพราะกลัวผิด ย่อมดีกว่าการกระทำความผิด ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่

ยิ่งหากเป็นการตัดสินใจร่วมในรูปของคณะกรรมการด้วยแล้ว ยิ่งกระทำหรือหลบเลี่ยงความผิดได้ง่ายดายที่สุด

ในกรณีของ ขสมก.นั้น ตัวเลขการขาดทุนต่อเนื่องเรื้อรังปัญหาสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการจราจรในเขตเมือง ซึ่งที่ผ่านมา มีข้อสรุปกันมากมาย แต่ก็แก้ไม่ได้สักที

ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มรุนแรงถึงขั้นเลวร้ายมานานแล้ว เนื่องจากปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเพราะรากเหง้าจากปัญหาของระบบขนส่งมวลชนและขนส่งสาธารณะ

รายงานของธนาคารโลกหลายปีมาแล้ว มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงความท้าทายของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร โดยสรุปได้ดังนี้

คุณภาพของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ยังล้าหลังเมืองสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการระบบรางได้ถูกพัฒนาในลักษณะที่เป็นโครงการเดี่ยว ขาดการเชื่อมต่อกับระบบรถโดยสารประจำทาง

การเชื่อมต่อทั้งภายในเครือข่ายระหว่างระบบขนส่งมวลชน แหล่งกิจกรรม และแหล่งชุมชนขาดประสิทธิภาพ

ชาวกรุงเทพมหานครใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากเกินจำเป็น โดยไม่สามารถคาดการณ์เวลาที่ใช้ในการเดินทางได้

พื้นที่การจราจรถูกครอบครองโดยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก

ระบบโลจิสติกส์ถูกละเลยและยังขาดความเข้าใจในการนำมาประยุกต์ใช้

ในอดีตที่ผ่านมา มีการเสนอ และนำเอาแผนปฏิบัติการระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับระบบรถโดยสารประจำทางมาใช้สารพัดรูปแบบได้แก่การปรับเส้นทางการเดินรถและบริการเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและหันมาใช้บริการรถโดยสารประจำทางมากขึ้นเพื่อลดปริมาณยานพาหนะบนถนนและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แต่ปัญหาของ ขสมก.ที่ขาดทุนเรื้อรัง ก็ยังไม่จบง่ายๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา

การพิจารณาทบทวนเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์ประจำทางของ ขสมก.ที่ล่าช้าออกไป  จึงเป็นเพียงกระพี้ของปัญหาหมักหมมที่ยิ่งใหญ่กว่า และยังหาทางแก้ไม่เจอ ยิ่งกว่าปมกอร์เดี้ยนด้วยซ้ำ

Back to top button