พาราสาวะถี อรชุน

หากมองปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายของดีเอสไอ แค่เพียงด้านเดียวก็จะพบคำตอบที่ว่า เพราะต้องการได้ตัว ธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันฟอกเงินจากการโกงในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แต่จนแล้วจนรอดทำไมจึงไม่ได้ตัว ทั้งๆ ที่ใช้มาตรการเด็ดขาด แต่ก็ไม่อาจที่จะเผด็จศึกได้เสียที จนเริ่มมีการตั้งคำถาม นี่มันปาหี่อะไรหรือเปล่า


หากมองปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกายของดีเอสไอ แค่เพียงด้านเดียวก็จะพบคำตอบที่ว่า เพราะต้องการได้ตัว ธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันฟอกเงินจากการโกงในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แต่จนแล้วจนรอดทำไมจึงไม่ได้ตัว ทั้งๆ ที่ใช้มาตรการเด็ดขาด แต่ก็ไม่อาจที่จะเผด็จศึกได้เสียที จนเริ่มมีการตั้งคำถาม นี่มันปาหี่อะไรหรือเปล่า

เรื่องจะเกี้ยเซี้ยหรือมีเบื้องหลังดอดเจรจากันก่อนจะโชว์แอ็กชั่นแบบดุดันนั้นคงไม่มี ทว่ายิ่งนานวันยังไม่เห็นมีอะไรเป็นมรรคเป็นผลนอกเหนือจากข่าวพระปะทะเจ้าหน้าที่ จึงมีปุจฉาใหม่ตามมาปฏิบัติการที่ว่ามันมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรมากไปกว่าการต้องการตัวอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายหรือเปล่า จะให้วิเคราะห์ต่อจิ๊กซอว์ข่าวเอาเองคงดูจะไม่เหมาะ

จึงต้องอาศัยมุมคิดของคนที่ได้ชื่อว่านักวิชาการ และต้องเลือกด้วยว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้เลือกข้างหรือเอียงกระเท่เร่แต่อย่างใด เริ่มที่ความคิดของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันก่อน ที่เกริ่นนำมาโดนถามอยู่หลายครั้ง ทำไมรัฐไทยถึงต้องเล่นงานธรรมกาย ทั้งที่ธรรมกายไม่เคยแสดงท่าทีการเมืองใดๆ ที่เป็นปัญหากับพวกเขา

ในหลายครั้งก็แสดงท่าทีเหมือนคณะสงฆ์ทั่วไป คือสนับสนุนสถาบันหลักที่เป็นอยู่ (สาวกธรรมกายที่สนับสนุนเสื้อแดงก็มีบ้าง แต่สาวกที่ไม่สนใจการเมืองหรือที่เป็นสลิ่มนั้นมีมากกว่าหลายเท่า) คำตอบก็เหมือนกับเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ถึงต้องทำลายล้างลัทธิฝ่าหลุนกง ทั้งที่ลัทธิฝ่าหลุนกงปลอดการเมืองโดยสิ้นเชิง เอาแต่ปฏิบัติธรรมตามลัทธิของตนอย่างเคร่งครัด

เมื่อยกตรรกะนี้มาเทียบเคียงก็จะถึงบางอ้อว่า เพราะสังคมเผด็จการนั้นต้องมีศูนย์อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ อุดมการณ์และทางจิตใจเพียงหนึ่งเดียว จะมีคู่แข่งไม่ได้ ซึ่งในมุมมองนี้อาจจะถูกโต้แย้งได้ว่า เป็นเพราะพิชิตมีอคติกับคณะรัฐประหารหรือเปล่าถึงได้มีบทสรุปเช่นนั้น ก็ตั้งไว้เป็นประเด็นให้ถกเถียงกันไป แล้วแต่ว่าจะมองกันอย่างไร

อีกหนึ่งความเห็นที่เกาะติดสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นคนที่ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างจริงจังโดยเฉพาะพุทธศาสนา นั่นก็คือ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา ที่เริ่มต้นคำถามต่อกรณีกรณีธรรมกายในเชิงประชดประชันว่า ธัมมชโยหนีคดี (ชั่วร้าย, สกปรก) พวกทำรัฐประหารไม่มีคดี (คนดี, สะอาดบริสุทธิ์) สมเหตุสมผลแล้ว ที่คนชั้นกลางการศึกษาดีในประเทศนี้จะเรียกร้องให้จัดการธัมมชโยให้ได้  

ตามมาด้วยคำถามจัดการแล้วยังไงต่อ? ต้องให้ทุกฝ่ายปรองดอง เพื่อสังคมสงบสุขโดยทุกฝ่ายทำตัวเป็นปศุสัตว์ที่เชื่อง เชื่อฟังอำนาจเผด็จการต่อไปเรื่อยๆ งั้นหรือ นี่ใช่ไหมที่ต้องการกันจริงๆ ความเชื่อที่ว่าอำนาจจากรัฐประหารจะล้างการเมืองสกปรกและศาสนาสกปรกให้สะอาดได้ เป็นความเชื่อจาก “ตรรกะป่วย” แบบเดียวกัน

ไม่ใช่เพียงการตรวจค้นจับกุมพระรูปหนึ่ง ภาพที่ออกมามันเหมือนกับการใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐจัดการกับกลุ่มศาสนากลุ่มใหญ่ แต่ใช้ข้อกล่าวหาพระทุจริต-ปาราชิก ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นตราประทับคนเลวในสังคมไทย ขณะที่การทำรัฐประหารใช้อำนาจเผด็จการปราบคนเลวถูกยกย่องว่าเป็นเผด็จการโดยธรรมหรือเผด็จการโดยคนดีที่สังคมควรยอมรับ

ตอนแรกบอกจะค้นจับธัมมชโย ตอนนี้มีการชี้เป้าแหล่งเก็บทองคำและเงินสดของวัดพระธรรมกาย ถ้าเห็นว่าทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายไม่โปร่งใส ก็ควรใช้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดมาจัดการและจัดการให้เกิดความโปร่งใสในมาตรฐานเดียวกันทุกวัด ประเด็นนี้มีพวกชักใบให้เรือเสีย ลากไปเชื่อมโยงกับปมเงินคงคลังไปเสียฉิบ

นักการเมืองบริสุทธิ์ พลังมวลชนบริสุทธิ์ พระบริสุทธิ์ กลุ่มพลังศาสนิกบริสุทธิ์ อะไรที่บริสุทธิ์อย่างที่ว่าๆ กันมันมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงมายาคติกันแน่ และถ้าอะไรๆ ที่ว่ามาไม่บริสุทธิ์ล่ะ แปลว่ามันมีความชอบธรรมที่จะใช้การรัฐประหารหรืออำนาจเผด็จการ หรือวิธีการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐจัดการเช่นนั้นหรือ

นี่คือเครื่องหมายคำถามจากนักวิชาการ 2 ราย ซึ่งยังคงมีนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะมุมสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตามแต่ ทว่าจากปฏิบัติการดังกล่าวด้วยกฎหมายพิเศษ (วิเศษ) พร้อมการระดมกำลังจำนวนมหาศาล แต่กลับยังไม่สามารถจัดการอะไรให้เรียบร้อยได้ มันยิ่งชวนให้คนสงสัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเป้าหมายปลายทางของการลงมือหนนี้

จะว่าไปแล้วการบุกธรรมกายเที่ยวนี้ก็ทำให้เห็นการทำงานของสื่อมวลชนอีกคำรบ ใครที่เป็นสื่อกระแสหลักนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ใครที่เป็นสื่อสอพลอสื่อเสี้ยมผลแห่งการนำเสนอมันสะท้อนได้เด่นชัด เมื่อเป็นเช่นนั้น มันจึงนำมาซึ่งคำตอบต่อกระบวนการปฏิรูปสื่อที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามจะออกกฎหมายเพื่อควบคุม

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์กัน กระบวนการนำเสนอของสื่อกระแสหลักที่ยึดโยงจรรยาบรรณ วิชาชีพนั้น คงไม่มีปัญหาที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ หากแต่สื่อประเภทเสี้ยมต่างหากที่ควรจัดการและฝ่ายกุมอำนาจจะต้องไม่ทำตัวลูบหน้าปะจมูกหรือหลงใหลได้ปลื้มไปกับสื่อเชลียร์พวกนี้ด้วย จึงจะทำให้ความตั้งใจที่จะปฏิรูปสื่อได้รับการยอมรับ

ประเด็นนี้ความเห็นของ อูเล่ เวสต์เบิร์ก อดีตบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Expresssen และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน Swedish Institute ของสวีเดน พูดไว้อย่างน่าสนใจ ต้องทำให้ประชาชนเห็นชัดว่า การทำหน้าที่สื่ออย่างเคร่งครัดนั้นแตกต่างจากการการใช้เสรีภาพออนไลน์ทั่วไปของบุคคลทั่วไป การไปตามปิดช่องทางการสื่อสาร ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และรัฐก็คงไม่สามารถไปตามปิดได้ทั้งหมด

มากไปกว่านั้นผู้มีอำนาจต้องฟัง สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ที่เตือนว่า หลักพื้นฐานเรื่องสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสาร สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร การต่อต้านการเซ็นเซอร์ รวมถึงหลักพื้นฐานที่ห้ามไม่ให้เอาตัวนักข่าวไปดำเนินคดี ยังคงเป็นหลักสำคัญที่ต้องยึดถือเสมอ โดยต้องส่งเสริมให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการกำกับดูแลกันเองไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง สื่ออาจจะดีหรือแย่แต่ก็ยังต้องมีเสรีภาพ เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพสื่อ สังคมก็จะไม่เหลืออะไรเลยนอกจากเรื่องแย่ๆ

Back to top button