ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจกำมะลอ (3)

การออกโรงบ่น (แกมลำเลิกบุญคุณ) เมื่อต้นเดือนมกราคม ของนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัด (เห็บสยาม) กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า กระทรวงการคลังน้อยใจมาก ที่เอกชนไม่ลงทุนเมื่อปีที่แล้ว ถึงขั้นที่ให้มาตรการภาษีแบบไม่เคยให้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้อนวอนก็แล้ว และประชาสัมพันธ์ก็แล้ว "ด้านเอกชนบอกว่า เราอ่อนประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เราเป็นแพะ เราก็ยอม เราไม่เข้าใจว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน" มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่น้อยใจ


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

การออกโรงบ่น (แกมลำเลิกบุญคุณ) เมื่อต้นเดือนมกราคม ของนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัด (เห็บสยาม) กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า กระทรวงการคลังน้อยใจมาก ที่เอกชนไม่ลงทุนเมื่อปีที่แล้ว ถึงขั้นที่ให้มาตรการภาษีแบบไม่เคยให้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้อนวอนก็แล้ว และประชาสัมพันธ์ก็แล้ว “ด้านเอกชนบอกว่า เราอ่อนประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เราเป็นแพะ เราก็ยอม เราไม่เข้าใจว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน” มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าแค่น้อยใจ

สาระสำคัญที่ปลัดเห็บสยามเปิดเผยออกมานอกจากความรู้สึกนั้น มีความหมายมากกว่า คือ

การยอมรับความจริงว่า การพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศจากการส่งออกได้น้อยลง ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริการ ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้น แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกนั่นแหละ เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (ที่สมาชิกพรรคข้าราชการเกลียดชังเข้ากระดูกดำอย่างยิ่ง) ได้เคยเกริ่นนำมายาวนานมากแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแก่ใจว่า นับแต่โครงการลงทุนกระตุ้นภาครัฐครั้งใหญ่เมื่อ 30 ปีก่อนในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา ประเทศไทยอาศัย “บุญเก่า” มาโดยตลอด ทั้งที่ควรต้องเร่งปรับดุลยภาพเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจลดการพึ่งพาการส่งออก (ซึ่งจีนทำสำเร็จในเวลาแค่ไม่เกิน 5 ปี) เพราะความสามารถในการแข่งขันจากแรงงานราคาต่ำได้จบสิ้นไปแล้ว 

แรงสะสมของความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุมาเป็น “สงครามเสื้อสี” และการรัฐประหารเพื่อย้อนมาสู่รัฐราชการที่ย้อนยุคในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ทำให้ความพยายามปรับดุลยภาพเชิงโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ที่คึกคักและมองเห็นอนาคตถูกบั่นทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ

ช่วงเวลาหลายปีมานี้ แม้เศรษฐกิจจะมีความก้าวหน้าในด้านธุรกิจอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำกับที่ เพราะศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่ถูกปลดปล่อยออกมา

จุดเด่นเดียวที่ยังพอทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งและมีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ (แม้หลายประเทศจะลดการลงทุนลงจากเงื่อนไขไทยมีรัฐบาลจากการรัฐประหาร) อยู่ที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และออกจะมากเกินความจำเป็นเสียด้วยซ้ำ

ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มากถึงระดับที่ 13 ของโลก (สูงกว่าสหรัฐและฝรั่งเศสด้วยซ้ำ) ถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลวนเวียนเข้าออกต่อไปตามปกติ และบาทยังคงแข็งค่าอยู่ได้ทั้งที่เศรษฐกิจไม่ดี

เมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2560 ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศรวมของไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย มียอดรวมทั้งสิ้น 6,305,227.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึงเกือบ 10 เดือนของตัวเลขส่งออกไทย

ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินเช่นนี้ สะท้อนมุมมองได้ถึง 3 ด้านเลยทีเดียวคือ 1) ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจการเงินของไทยโดดเด่นต่างจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2) ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เงินไม่เป็น  และ 3) สุดท้าย (มองอย่างอคติ) การส่งออกย่ำแย่ลง เพราะทุนสำรองมากเกินทำให้บาทแข็งเกิน กระทบส่งออกที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

แม้ว่าการพูดถึงประเด็นที่ไทยต้องลดพึ่งพาการส่งออก แต่การพูดนั้นง่ายกว่าทำอย่างมาก เพราะดูเหมือนว่า โรดแม็พของรัฐบาลทางเศรษฐกิจว่าด้วย เศรษฐกิจ 4.0 (ด้วยการลอกตำราเล่มละ 1,500 บาทของฟิลลิป คอตเลอร์ มาอย่างฉับไวทั้งดุ้น) นั้น ดูเหมือนจะมีความเข้าใจที่ต่างระดับกันมากพอสมควร จนเสมือนขาดทั้งเอกภาพในแนวทาง และแผนปฏิบัติการอย่างบูรณาการ

โดยแนวทางที่ยังเป็นนามธรรมอย่างมาก ระบุว่า ช่วงเวลาบั้นปลายของเศรษฐกิจไทยที่เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมหนักนั้น (เรียกใหม่ว่า Thailand 3.0) ปัจจุบันเติบโตเพียงแค่ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ทำให้ติดกับดักชาติรายได้ปานกลาง เป็นเวลากว่า 20 ปี ติดอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำมาก ได้น้อย” จำต้องเปลี่ยนเป็นยุค Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นกลุ่มประเทศที่รายได้สูงด้วยการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” ภายใต้คำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมกับเปลี่ยนกระบวนการขับเคลื่อนดังนี้ 

  • ภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
  • การเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ
  • เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
  • เปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง
  • เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง 

คำถามคือ โมเดลนี้จะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องใช้ต้นทุนในการเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากเก่าไปใหม่มากน้อยเท่าใด 

คำตอบนอกเหนือจากคำขวัญสวยหรูว่า ต้องใช้แนวทาง สานพลังประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ธนาคาร ประชาชน สถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ พร้อมต้องมีโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ มีอินเตอร์เน็ตที่คลอบคลุมประชากรมากที่สุด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนได้ ยังหาความชัดเจนไม่ได้เลย

อนาคตอันคลุมเครือของการปรับดุลยภาพเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้ มีคำถามตามมาสำหรับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่า จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าอนาคตของการลงทุนในตลาดจะสดใสเรืองรอง เป็นส่วนหนึ่งของ “คลับเศรษฐี” (Millionaire’s Club) ร่วมกับคนอื่นในสังคม ไม่ใช่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของนักการตลาดชั้นเลว

(ยังมีต่อ)

Back to top button