รีบช้อน 4 หุ้นแบงก์ราคายังถูก พร้อมแจกปันผลสุดหรู!

รีบช้อน 4 หุ้นแบงก์ราคายังถูก พร้อมแจกปันผลหรู โบรกฯ มองปี 60 ยังเป็นปีทอง แนวโน้มสินเชื่อโตรับปัจจัยภาครัฐหนุน TCAP-BAY-BBL-KBANK


รีบช้อน 4 หุ้นแบงก์ราคายังถูก พร้อมแจกปันผลหรู โบรกฯ มองปี 60 ยังเป็นปีทอง แนวโน้มสินเชื่อโตรับปัจจัยภาครัฐหนุน TCAP-BAY-BBL-KBANK

หลังจากที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ทำการประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 59 ไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่ทำผลงานได้ดี กำไรปรับตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ส่งผลให้บริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ ขณะที่แนวโน้มในปีนี้นักวิเคราะห์ยังมองว่ามีโอกาสเติบโตได้

โดยมีการประเมินแนวโน้มสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 จะกลับมาเติบโตได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 6.3 ได้อีกครั้ง โดยสินเชื่อภาคธุรกิจเติบโตร้อยละ 6 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยจะกลับมาเติบโตได้ที่ร้อยละ 7.10 จากปัจจัยหนุน ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ  การท่องเที่ยวและบริการ ,กำลังซื้อของผู้บริโภค และรายได้การเกษตร และการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้จึงส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเริ่มขยับขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีบางธนาคารที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบรับข่าวดีดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นตัวเลือกให้นักลงทุนที่สนใจเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารเพื่อที่จะได้รับปันผล “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานประจำปี 59 ของธนาคารที่มีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูง และราคาหุ้นยังถูกอยู่ โดยพบว่ามีทั้งหมด 4 ธนาคาร ดังนี้

 

อันดับที่ 1 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ราคาหุ้นนับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.60 จนถึงปิดตลาดวานนี้ ปรับตัวขึ้นเพียง 0.25 บาท หรือคิดเป็น 0.50% ขณะที่ล่าสุดประกาศจ่ายปันผล 1.20 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD 17 เม.ย.60 กำหนดจ่าย 3 พ.ค.60

ด้าน บล.เคทีบี แนะนำ “ซื้อ” TCAP ราคาเป้าหมาย 53 บาท/หุ้น โดยมองว่าบริษัทจะเติบโตจากการบริหารต้นทุนที่ดี ในขณะที่สินเชื่อเติบโตตามเศรษฐกิจ ทั้งนี้บริษัทจะดำรงการบริหารต้นทุนทางการเงินให้ดีขึ้นจากการเพิ่มส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และทำให้ Margin เติบโตขึ้น ด้านสินเชื่อเช่าซื้อแนวโน้มเติบโตจากการสิ้นสุดนโยบายรถคันแรกสนับสนุน โดยสินเชื่อรวมเติบโตที่ 3-5% ตามสภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อลง โดยมีสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้นเป็น 2.5%

ทั้งนี้ให้ราคาเหมาะสมของ TCAP ที่ 53 บาท เทียบเท่า P/BV ปี 60 ที่ 1.09 เท่า แนะนำ “ซื้อ” จากแนวโน้มกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อที่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมทั้งบริษัทมีการควบคุมต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เป็นรายได้หลักเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เราประเมินการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานคงที่ตามปีก่อน คิดเป็น Dividend Yield 3.8%

 

อันดับที่ 2 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ราคาหุ้นนับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.60 จนถึงปัจจุบัน ปรับตัวลงไป 0.50 บาท หรือ 1.26% ขณะที่ล่าสุดประกาศจ่ายปันผล0.45 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 4 พ.ค.60 กำหนดจ่ายปันผล 25 พ.ค.60

ด้าน บล.บัวหลวง แนะนำ “ถือ” BAY ราคาเป้าหมาย 42.50 บาท/หุ้น มองว่ากำไรของ BAY จะเติบโตได้อย่างปกติที่ 10% ในปี 2560 หลังจากที่มีกำไรเติบโตแข็งแกร่งที่ 15% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งขับเคลื่อนโดยการซื้อและควบรวมกิจการ (กับ Bank of Tokyo Mitsubishi (ประเทศไทย)) คาดว่า BAY จะเน้นปล่อยกู้ให้บริษัทเอกชนอื่นๆและ SME ที่เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง โดยสองอย่างที่กล่าวมาให้รายได้ค่าทำเนียมธนาคารอาจน้อยกว่าธุรกิจค้าปลีก

อีกทั้งธนาคารมีการลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อรองรับ ระบบ ดิจิตอลแบงค์กิ้ง  ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นจากปีก่อนมาก ทั้งสองกิจกรรมอาจทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มไม่มากนักและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในปี 2560 ที่อาจสูงกว่าประมาณการเรา นอกจากนี้ ราคาหุ้น BAY ซื้อขายที่ 1.3x เท่าของมูลค่าทางบัญชีปี 2560 ที่ใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายของเราที่ 1.4 เท่าของมูลค่าทางบัญชีปี 2060 ผลจากจากอัพไซด์ที่ลดลงในเรื่องกิจการการซื้อและควบรวมกิจการที่ลดลงปีนี้และ ราคาหุ้น BAY ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ราคาเป้าหมายปี 2560 ของเรา ทำให้เราปรับลดคำแนะนำ BAY เ ป็นถือจากซื้อ โดยมองว่า ราคาหุ้น BBL น่าสนใจจากราคาที่ 0.8 เท่าของมูลค่าทางบัญชีปี 2560 และกำไรปีนี้ทยอยฟื้นตัว 

 

อันดับที่ 3 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาหุ้นนับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.60 จนถึงปัจจุบัน ปรับตัวขึ้นไปเพียง 2.50 บาท หรือ 1.43% ขณะที่ล่าสุดประกาศจ่ายปันผล 4.50 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 20 เม.ย.60 กำหนดจ่ายปันผลวันที่ 11 พ.ค.60

ด้าน บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 213 บาท/หุ้น มองว่าแนวโน้มการดำเนินงาน BBL ยังคงแข็งแกร่ง  แนวโน้มสินเชื่อยังคงเติบโตดีต่อเนื่องมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้แรงหนุนจากสินเชื่อบรรษัท, กลุ่มสินเชื่อรายย่อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ยังคงประมาณการกำไรปี 2560 ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%

นอกจากนี้ BBL มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากต่ำที่สุด (ที่ 89%) และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงที่สุด(ที่ 174%) ในกลุ่มธนาคารทำให้มีสถานะมั่นคงในการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ นอกจากนี้ธนาคารอาจมีอัพไซต์จากสินเชื่อบรรษัทและสินเชื่อรายย่อยค่อนข้างมากหากอุปสงค์สินเชื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานทยอยเข้ามาในครึ่งหลังของปี 2560 ตามกำหนด นอกจากนี้หุ้น BBL ซื้อขายกันในราคาที่ถูกด้วยค่า  PBV ณ สิ้นปี 2560 ที่ 0.8 เท่าเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 1.1 เท่า ยังคงคำแนะนำ ซื้อ

 

อันดับที่ 4 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาหุ้นนับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.60 จนถึงปัจจุบัน ปรับตัวลงไป 1 บาท หรือ 0.53% ขณะที่ล่าสุดประกาศจ่ายปันผลเป็นเงินสด 3.50 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 7 เม.ย.60 กำหนดจ่ายวันที่ 28 เม.ย.60

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 208 บาท/หุ้น โดยมองว่า NPL Ratio ถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ยังตั้งสำรองค่าเผื่อฯสูง ทาง KBANK เชื่อว่า NPL ของธนาคารได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และคุณภาพสินทรัพย์จะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่ง NPL ส่วนใหญ่เป็นพวก SME อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังจะตั้งสำรองฯสูงต่อในปี 60 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามการตั้งสำรองฯที่อิงกับ Historical Default Rates สำหรับ NPL Ratio ได้ปรับขึ้นจาก 2.7% ในสิ้นปี 58 เป็น 3.3% ในสิ้นปี 59

สำหรับการเติบโตในปี 60 ยังไม่มาก หากให้สมมติฐานการเติบโต GDP 3.3% ในปี 60 สินเชื่อธนาคารจะเติบโต 4-6% ส่วน NIM ทรงตัว และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัวไม่สูงเพราะฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากพรอมเพย์ก็กดดันด้วย ด้าน Cost-to-income Ratio คาดว่าจะอยู่ที่ 40% กลางๆ โดยธนาคารต้องลงทุนด้าน IT และดิจิตอลแบงค์กิ้งเพิ่ม คาดการณ์กำไรสุทธิปี 60 หดตัวที่ -9.6%YoY 

ทั้งนี้ยังคงคำแนะนำซื้อลงทุน และชื่นชอบ KBANK แม้ว่าระยะสั้นจะมีการเติบโตที่จำกัด แต่ธนาคารมีโครงสร้างรายได้และลูกค้าที่ดี มีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันสูง โดยเฉพาะด้านดิจิตอลแบงค์กิ้งที่มีการลงทุนรองรับไว้พอควรแล้ว และคาดว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารมีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว ปรับเพิ่มราคาพื้นฐานเป็น 208 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 60 ที่ 1.4 เท่า ความเสี่ยงหลัก คือ NPL และการตั้งสำรองฯสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button