พาราสาวะถี อรชุน
คงเป็นเรื่องยากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ที่ใช้กับวัดพระธรรมกาย เพราะนั่นเท่ากับตบหน้าตัวเอง และเป็นการยอมรับโดยดุษณีว่า มาตรายาวิเศษกำลังหมดฤทธิ์ ใช้บังคับแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ใครจะยอมให้มนตร์ของตนเองที่เคยขลังกลายเป็นเพียงแค่ลมปากที่พ่นออกมาแล้วไม่มีฤทธิ์เดชใดๆ
คงเป็นเรื่องยากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 ที่ใช้กับวัดพระธรรมกาย เพราะนั่นเท่ากับตบหน้าตัวเอง และเป็นการยอมรับโดยดุษณีว่า มาตรายาวิเศษกำลังหมดฤทธิ์ ใช้บังคับแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา ใครจะยอมให้มนตร์ของตนเองที่เคยขลังกลายเป็นเพียงแค่ลมปากที่พ่นออกมาแล้วไม่มีฤทธิ์เดชใดๆ
จะเห็นได้จากถ้อยแถลงของ พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช.ที่ตอกย้ำถึงความเลื่อมใสศรัทธาและเห็นว่านี่คือกฎหมายอันแสนจะสุดยอด ถึงกับประกาศว่า กฎหมายอะไรก็ยุติคนไม่ดีไม่ได้ และวันข้างหน้าถ้าไม่มีม.44 ไม่มีคสช. เราจะอยู่กันอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร เรื่องของการตอบโต้นั้นเราก็ได้เห็นได้ยินกันไปแล้ว
ความจริงแทนที่โฆษกคสช.จะย้อนถามประชาชน น่าจะต้องย้อนถามตัวเองเสียมากกว่าถ้าคสช.ไม่มีมาตรา 44 แล้วจะอยู่กันอย่างไร คนทั่วไปเข้าใจตั้งแต่แรกแล้วว่า มันจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหารที่จะต้องมีกฎหมายอันเด็ดขาดไว้ใช้ แต่ในบางกรณีหากเห็นว่าขืนดันทุรังต่อไปแล้วจะมีแต่ปัญหาและรู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่ดำเนินการมันไม่สำเร็จ ก็ควรที่จะยอมรับความจริงอย่ากลัวการเสียหน้า
เหมือนอย่างที่ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ เตือนรัฐบาลคสช.ด้วยความหวังดีว่า การบังคับใช้มาตรา 44 เพื่อควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายและบริเวณใกล้เคียงแบบยาวๆ คงไม่ได้ นานไปอาจส่งผลกระทบในเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดกรณีที่ไม่สามารถตามจับผู้ต้องหาในคดีต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันคน ดังนั้น จึงคิดว่าหากที่สุดแล้วทางดีเอสไอไม่พบตัวธัมมชโยจริงๆ รัฐบาลก็คงมีทางออกในเรื่องนี้
เป็นข้อเสนอแนะอันนุ่มนวลและห่วงใย ขณะที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็อธิบายความเห็นของโฆษกคสช.ว่า อำนาจเบ็ดเสร็จของมาตรา 44 ใช้ได้ในสถานการณ์หนึ่ง ไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป เมื่อเราจะเข้าสู่ประชาธิปไตย ต้องปลุกจิตสำนึกให้คนอยู่ร่วมกัน ตกลงกันให้ได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษมาควบคุม
ถ้าอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษตลอดไป จะแปลกประหลาดสำหรับคนไทยที่ต้องถูกบังคับ ถูกควบคุม ถ้ายังใช้อยู่แล้วสังคมยังยอมรับ เราก็ต้องยอมรับว่า เป็นชนชาติเดียวที่ชอบให้บังคับ ซึ่งมุมนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากประชาธิปัตย์เกิดชนะเลือกตั้งขึ้นมา แล้วได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถามหน่อยว่านิพิฏฐ์ยังอยากที่จะให้มีมาตราดังว่านี้อีกหรือไม่
ความเป็นจริงปมปัญหาธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายนั้น ก็เหมือนอย่างที่นิพิฏฐ์ให้ความเห็น คสช.ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษพร่ำเพรื่อ ควรใช้กฎหมายปกติก่อนตามลำดับ แม้จะล่าช้า ไม่เด็ดขาดเท่า แต่ใช้แล้วไม่เสียหาย เพราะเป็นกติกาเดียวกันกับที่สังคมโลกใช้และยอมรับ ดังนั้น จึงต้องฝึกให้คนอยู่ได้ด้วยกติกาเดียวกันของสังคมโลก
อย่างไรก็ตาม ประสาคนพรรคเก่าแก่ที่จะต้องออกตัวทันทีว่า แต่ก็เข้าใจ แต่ละคนมีวิธีการไม่เหมือนกัน ทหารอาจถูกฝึกมาให้อยู่ในระบบ มีระเบียบที่เด็ดขาด ไม่ใช่บุคคลที่ถูกฝึกมาให้ใช้ระบบปกติ แต่เราต้องเข้าใจ และยอมรับว่าเพราะคสช.เข้ามาด้วยอำนาจพิเศษ จึงต้องใช้วิธีการพิเศษ แต่ขอยืนยันให้คสช.ใช้อำนาจพิเศษเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
จะว่าไปแล้วประเด็นธรรมกายก็เหมือนอย่างที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตกันไว้อย่างกว้างขวาง ลำพังรัฐบาลจะจัดการหรือดำเนินคดีกับธัมมชโย ถ้าใช้กระบวนการปกติและไม่มีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่น เวลาคงไม่ล่วงเลยมานานเกือบปีอย่างที่เป็นอยู่ แม้จะมีการยืนยันว่าสิ่งที่ดำเนินการไม่ใช่จัดการกับวัดแต่เพื่อเล่นงานพระที่ทำผิดกฎหมายเพียงรูปเดียว แต่การกระทำมันไม่ได้บ่งชี้อย่างนั้น
เมื่อเป็นแบบนี้ บทความของ ชัยพงษ์ สำเนียง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น่าจะช่วยเป็นภาพสะท้อนสำหรับคนไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมามกะเป็นอย่างดี ภัยพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่กรณีธรรมกาย แม้แต่สังฆมณฑลโดยรวมก็ร้อนร้ายไม่แพ้กัน มีการเล่นพรรคเล่นพวก ใช้เงินซื้อตำแหน่ง ไม่ต้องพูดถึงว่ารักษาพระธรรมวินัยครบ 227 ข้อหรือไม่ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พระปัจจุบันห่างไกลสุดกู่
พระไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชนแล้ว พระ-วัดกลายเป็นพื้นที่อิสระในหมู่บ้านชุมชน การรวมศูนย์การปกครองพระในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้พระหลุดลอยจากความสัมพันธ์กับสังคม ความศรัทธาต่อพระในสังคมปัจจุบันก็มิได้เหมือนในอดีต คนที่เรียกว่าพระบางทีก็รู้เรื่องราวทางโลกทางธรรมน้อยกว่าคนธรรมดาเสียอีก การเอ่ยอ้างว่าพระเป็น “หนทางทางปัญญา” “ผู้นำทางปัญญา” ในปัจจุบันมีกี่คนที่เชื่ออย่างหมดจิตหมดใจ นอกจากผู้นำทางพิธีกรรมที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย
ในความเป็นจริงเราควรวิพากษ์ศาสนาได้ทั้งพุทธแท้ พุทธเทียม พุทธปลอม หรือพุทธอื่นๆ ควรให้ประชาชนผู้คนตรวจสอบ ไม่ปล่อยให้วัด พระสงฆ์องคเจ้า หลุดไปจากการควบคุมของสังคม เพราะนั่นหมายถึงวัดวาต่างๆ เป็นพื้นที่อิสระในสังคม และคิดว่ากรณีธรรมกายเป็นการท้าทายสังคมไทยในแง่ความเข้าใจต่อหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาและการปฏิรูปพุทธศาสนา
เรารู้ เห็น เข้าใจตรงกันว่า ไม่ว่าพุทธแบบธรรมกาย พุทธทั่วไป ต่างตกอยู่ในภาวะวิกฤติศรัทธา ดูได้จากข่าวในแต่ละวัน แต่สิ่งที่เราทำในปัจจุบันคือ การสร้างข้อรังเกียจและให้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมแบบมาตรา 44 เข้าไปจัดการกับธรรมกายด้วยความสะใจ ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าอำนาจอะไรก็ได้ ถ้าเข้าไปจัดการสิ่งที่เราไม่ชอบถือว่าชอบธรรม แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร เรายินดีอยู่กับสังคมแบบนี้หรือ
เป็นคำถามที่แหลมคมและมันทำให้ย้อนกลับไปยังสิ่งที่ผู้มีอำนาจปัจจุบันและคณะ ความตั้งใจ ความพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดความแตกแยกของคนไทยนั้น กรณีของธรรมกายอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากแต่ปลายทางหลังมีบทสรุปเรื่องความปรองดองต่างหาก ที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น แท้ที่จริงแล้วมาเพื่อทำให้มันดีขึ้นหรือย่ำแย่หนักยิ่งกว่าเดิม