พาราสาวะถีอรชุน

ไม่ว่าเนื้อหาสาระของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะเป็นเช่นใด แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายที่รัฐบาลคสช.หวังว่าจะทำให้ต่างชาติเข้าใจนั้น อาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด หลังจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย ซึ่งบอกว่า มาตรา 44 คือข้อห่วงกังวลที่สุดของฮิวแมนไรต์ วอตช์ ที่เคยแถลงการณ์ประณามมาแล้วครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเมื่อปีที่ผ่านมา


ไม่ว่าเนื้อหาสาระของการใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะเป็นเช่นใด แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายที่รัฐบาลคสช.หวังว่าจะทำให้ต่างชาติเข้าใจนั้น อาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด หลังจากที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย ซึ่งบอกว่า มาตรา 44 คือข้อห่วงกังวลที่สุดของฮิวแมนไรต์ วอตช์ ที่เคยแถลงการณ์ประณามมาแล้วครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเมื่อปีที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า ปัญหาขององค์การด้านสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ได้อยู่ที่ว่าคสช.จะใช้กฎหมายอะไรมาควบคุมความมั่นคงแต่อยู่ที่การเข้าสู่อำนาจของคสช.ที่มาจากการรัฐประหาร นำมาซึ่งการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้ศาลทหารมาไต่สวนพลเรือน อันเป็นข้อเรียกร้องซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

แนวทางที่จะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากเดิมที่คณะทหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มาเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ เพราะให้อำนาจแก่บุคคลคนเดียวสามารถใช้อำนาจเต็มได้ตามอำเภอใจ ไร้ขอบเขตและไม่ต้องรับผิดชอบจากการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น

บทสรุปของสุนัยก็คือ ที่สุดแล้วแนวทางดังกล่าวนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่จะยิ่งร้ายแรงกว่าเดิมอย่างแน่นอน เสียงสะท้อนตรงนี้ต้องรับฟัง เพราะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เมื่อเคลื่อนไหวในเรื่องใดแล้ว ถือว่ามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจของนานาชาติที่จะพิจารณาความร่วมมือในด้านต่างๆ ของประเทศที่ถูกกล่าวหาว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น ยังมีปมที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. กำลังตรวจสอบเรื่องการซ้อมผู้ต้องหาปาระเบิดศาลอาญาเพื่อให้รับสารภาพ โดยที่เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการกสม.พร้อม แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปที่เรือนจำเพื่อขอทำการตรวจร่างกายผู้ต้องหาที่ร้องเรียนมายังกสม.

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งว่ายังไม่มีหนังสือจากกรมราชทัณฑ์ ทั้งที่มีการยื่นจดหมายไปถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้ว นั่นเป็นเหตุให้กสม.ได้มีการเชิญตัวแทนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยหมอนิรันดร์ได้บอกกับคนที่มาเชิญมาว่า ตนทำตามหน้าที่ไม่เกี่ยวกับคดีวางระเบิดและรู้ดีว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด

ตนเข้าใจ แต่ถ้าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่ให้เข้าไป ทางกรมราชทัณฑ์ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไมไม่อนุญาตให้กสม. เข้าไปตรวจสอบ ขอยืนยันว่านี่ไม่เกี่ยวข้องเรื่องคดี แต่แม้ว่าจะใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีสิทธิไปซ้อมผู้ต้องหา ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ฝากไปบอกอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย ตนปฏิบัติหน้าที่มา 6 ปีจนจะหมดวาระ ยังไม่เคยมีปรากฏกรณีว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุมัติ

ขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของกสม.ถึงกับสรุปว่า การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม เปรียบเสมือนเป็นการยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงเพราะปกติไม่เคยมีกรณีที่ทางกสม.ยื่นหนังสือแล้วมีการปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม แต่กรณีของ 9 ผู้ต้องหาวางระเบิดหน้าศาลอาญากลับมีการปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของความผิดปกติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถามเหตุผลว่าเหตุใดอธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงปฏิเสธกสม. ทั้งที่ต้องการจะทำให้ทุกอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใส และไม่เคยมีการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้มาก่อน คำถามตรงนี้ย่อมไม่จำกัดอยู่แค่ระดับอธิบดีเท่านั้น แต่มันจะลามเลียไปถึงผู้มีอำนาจสูงสุดด้วย

แต่จะว่าไปแล้วความจริงสถานะของมาตรา 44 แม้จะมีหรือไม่มีกฎอัยการศึก ก็ถือว่ามีผลบังคับใช้อยู่แล้ว เนื่องจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศในเวลานี้ ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กตู่ก็เคยใช้อำนาจดังกล่าวมาแล้ว กรณีสั่งให้ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งหมดวาระลงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เพียงแต่คราวนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะนำมาใช้ในการดูแลเรื่องความมั่นคง โดยที่หลายคนก็หวังใจว่าน่าจะเป็นอย่างที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ช่วยการันตี เชื่อมั่นบิ๊กตู่จะไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจ ในฐานะมือกฎหมายประจำตัวนับตั้งแต่การยึดอำนาจก็น่าพอที่จะมีเครดิตให้เชื่อถือได้บ้าง สอดรับกับท่าทีท่านผู้นำที่บอกไว้วันวานพยายามจะปรับจุดเดือดไม่ให้ต่ำเหมือนที่ผ่านมา

ปัญหาด้านเศรษฐกิจติดลบ เป็นอันว่าจบข่าว หลัง สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลังออกมายอมรับแบบแมนๆ ไม่ต้องหวังว่าจะได้เห็นตัวเลขจีดีพีโตเกินร้อยละ 4 สูงไปถึงร้อยละ 5-6 เหมือนอดีตที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศฟุบยังไม่เห็นสัญญาณฟื้น แต่ขุนคลังคงลืมไปว่า ประเทศไทยจะหนักหนาสาหัสกว่า เพราะการปกครองด้วยอำนาจพิเศษ

ปัญหาที่สมหมายยอมรับอีกประการคือ ตัวเลขการเลิกจ้างของภาคเอกชนในบางอุตสาหกรรมเริ่มมีมากขึ้น แต่รัฐบาลก็จะไม่คลอดมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 80 ของจีดีพี ตรงนี้แหละโจทย์ใหญ่ ปัจจัยส่งออกแย่ ท่องเที่ยวมีปัญหา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบางจะทำอย่างไร

การแสดงทีท่าว่าจะขึ้นภาษี รีดภาษีจากประชาชน คือสิ่งที่แสดงออกอย่างหนึ่งว่าฐานะการคลังของประเทศนั้นกำลังมีปัญหา โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะเลือกแนวทางการขึ้นภาษีกับประชาชนเป็นทางเลือกท้ายสุด เพราะการขึ้นภาษีกับประชาชนนั้นแสดงว่ารัฐไร้กึ๋นในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ

Back to top button