THAI ฝันของนักสุนิยมแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ผลงานทิ้งทวนของอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยที่งบสิ้นงวดปี 2559 มีตัวเลขกำไรสุทธิเพียง 15 ล้านบาท แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้
ผลงานทิ้งทวนของอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยที่งบสิ้นงวดปี 2559 มีตัวเลขกำไรสุทธิเพียง 15 ล้านบาท แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้
ส่วนหนึ่งของกำไรที่ต่ำกว่าคาด เกิดขึ้นเพราะผลการดำเนินงานในตไรมาสสี่ของปี 2559 มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1.46 พันล้านบาท เพราะเหตุปัจจัยสำคัญคือ การแข่งขันลดค่าตั๋ว ทำให้ Passenger yield ต่ำลง รวมทั้งมีรายการพิเศษเพิ่มเติมด้วย
ตัวเลขขาดทุนสุทธิในไตรมาสสี่ 2559 จนกระทบให้กำไรสุทธิขี้เหร่ลงไปมาก ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในการดำเนินงานปกตินั้น THAI ไม่เคยมีกำไรเลยมานานหลายไตรมาสแล้ว จนเป็น “ปกติ” และยั่วให้รื้อค้นว่า เบื้องลึกของการขาดทุนเรื้อรังนั้นเกิดจากปัจจัยอะไร
บังเอิญว่าในบางไตรมาส จะมีข้อยกเว้น…มีกำไรพิเศษเข้ามาทำให้กำไรสุทธิเป็นบวก ประทังหรืออำพรางไว้
หากพิจารณาลงลึก จะพบว่า กำไรพิเศษของ THAI มักซ้ำซากกับปัจจัยหลัก 2 อย่างเท่านั้น …1) ลดต้นทุนการเงินหลากรูปแบบ 2) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน…เพิ่งจะมีไตรมาสแรกของปี 2559 ที่มีกำไรพิเศษแปลกๆ…จากการบันทึกกลับ เพราะไม่ต้องบันทึกการด้อยค่าของทรัพย์สินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
ไตรมาสไหนไม่มีกำไรพิเศษดังกล่าวเข้ามา…ก็กลับ “ขาดทุนตามปกติ” เหมือนเดิม
ผลของกำไรที่น้อยนิดในปี 2559 เกิดจากประเด็นหลัก คือ รายได้ที่ลดลงของค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน จาก 1.52 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.48 แสนล้านบาท และรายได้อื่นๆ ลดลงจากระดับ 6.02 พันล้านบาทของปีก่อน เหลือเพียง 2.24 พันล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่าย แม้ปีที่ผ่านมา THAI จะได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันเครื่องบินจากระดับ 6.32 หมื่นล้านบาทของปีก่อน มาเหลือเพียง 4.53 หมื่นล้านบาท และบันทึกการด้อยค่าเครื่องบินที่ลดฮวบจาก 1.18 หมื่นล้านบาท ของปีก่อน เหลือแค่ 3.21 พันล้านบาท แต่กลับมีค่าใช้จ่ายจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานพุ่งกระฉูดจากระดับ 1.03 หมื่นล้านบาทของปีก่อน มาเป็น 1.69 หมื่นล้านบาท
ตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่ายลด ทำให้ตัวเลข EBITDA ของ THAI ขาดทุนตลอดปี 2559 ที่ 1.41 พันล้านบาท ดีขึ้นจากตัวเลขขาดทุนปีก่อน 1.41 หมื่นล้านบาท แล้วส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 15.1 ล้านบาท จากตัวเลขขาดทุนปีก่อน 1.30 หมื่นล้านบาท
แม้จะกลับมาทำกำไรได้เล็กน้อยจากยอดรายได้รวม 1.81 แสนล้านบาท ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมของ THAI กระเตื้องขึ้น ยังคงย่ำอยู่ที่ระดับ 2.21 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2.22 หมื่นบ้านบาท
ขาดทุนสะสมมากขนาดนี้ ไม่เพียงแค่ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้…กลายเป็นธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร…แต่ยังทำให้สภาพคล่องทางการเงินเลวร้าย เพราะ 2 ปัจจัยลบหลัก
ปัจจัยแรกคือ สภาพคล่องที่ย่ำแย่ เพราะล่าสุด ตัวเลขสัดส่วน current ratio อยู่ที่ระดับ 0.6 เท่า ต้องพึ่งพาเงินกู้ระยะสั้นจาก 2 แหล่ง คือ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 2.0 พันล้านบาท และ เงินกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน
ปัจจัยหลังคือ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่อส่วนผู้ถือหุ้นหรือค่า ดี/อี ที่ยังคงเลวร้ายน่าเสียวไส้ต่อไปที่ระดับ 7.3 เท่า จากยอดนี้สินรวม 2.49 แสนล้านบาท เทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นแค่ 3.35 หมื่นล้านบาท
ตัวเลขทางการเงินที่ชวนสยองของ THAI จึงหักกลบคำแถลงข่าวที่มีมุมมองเชิงบวก (ที่ดูดีไปหมด) ของผู้บริหารที่ออกมาเลิศหรูอลังการ สวนทางกับคำชี้แนะของนักวิเคราะห์ที่ให้ “ถือ” กับ “ขาย” กันเป็นส่วนใหญ่ โดยมีราคาเป้าหมายใหม่ลดฮวบลงที่ระดับ 20.00-21.00 บาทเท่านั้น
ผู้บริหารระดับ “แถวสอง” ของ THAI ระบุในเชิง “โลกสวย” ว่าปี 2560 นั้น THAI จะมีปรากฏการณ์สำคัญคือ 1) จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 4% จาก 22.3 ล้านคนในปีก่อน) ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) สูงขึ้น 7% และจำนวนเที่ยวบินโต 7% โดยบริหารจัดการเรื่องรายได้ต่อหน่วย (yield) ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ 2) ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2560 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) อยู่ในระดับสูงกว่า 80% เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 5 ปี คาดว่าแนวโน้ม cabin factor ในปี 60 จะดีกว่าปีก่อนที่มีระดับเฉลี่ย 73.4% 3) ทยอยปลดระวางและขายเครื่องบินรอการขาย 22 ลำ ซึ่งอยู่ในกระบวนการขาย 8 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737, โบอิ้ง 747-400 และ แอร์บัส A320 หลังจากที่ปีก่อนขายไปแล้ว 14 ลำ และกำลังส่งมอบ 2 ลำ 4) ดำเนินการสานต่อแผนปฏิรูปขั้นที่ 3 โดยจะมีการปรับแผนปฏิรูปให้เหมาะสม โดยเน้นหารายได้จากการขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมทั้ง เพิ่มการขายกับหน่วยงาน (corporate sale) และเดินหน้าโครงการร่วมใจจากต่อไป เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความกระชับ
แนวทางที่ “ดูดี”เช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พูดกัน แต่ไม่เคยมีผลลัพธ์ป็นรูปธรรมเลยว่า ทำให้กำไรจากการดำเนินงานเป็นบวกได้
คำถามคือ ครั้งนี้ จะเป็นแค่ “สายลมที่ผ่านเลย” หรือ “ฝัน(เปียก)ของนักสุนิยม”……ยังไม่มีคำตอบ
“อิ อิ อิ”