ราคาทองวานนี้ปิดพุ่ง 25 ดอลลาร์ หลังดอลล์อ่อนค่า

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) โดยได้รับแรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ข้อมูลบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของตลาดแรงงานและภาคการผลิตของสหรัฐยังกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) โดยได้รับแรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ข้อมูลบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของตลาดแรงงานและภาคการผลิตของสหรัฐยังกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 25 ดอลลาร์ หรือ 2.11% ปิดที่ 1,208.20 ดอลลาร์/ออนซ์, สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 46.1 เซนต์ ปิดที่ 17.059 ดอลลาร์/ออนซ์, สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 22.6 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,166.00 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.ปรับขึ้น 13.55 ดอลลาร์ ปิดที่ 748.85 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ 6 สกุลในตะกร้าเงินนั้น ปรับตัวลง 0.25% แตะที่ 98.14 เมื่อวานนี้ ซึ่งการอ่อนค่าของดอลลาร์จะทำให้สัญญาทองคำซึ่งซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านแรงงานและภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยผลการสำรวจของ ADP ระบุว่า ภาคเอกชนของสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 189,000 รายในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 225,000 ราย

ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.อยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงจากระดับ 52.9 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากยอดสั่งซื้อในภาคการผลิตชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ข้อมูลแรงงานของ ADP ทำให้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนมี.ค.ในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 248,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งน้อยกว่าเดือนก.พ.ที่เพิ่มขึ้น 295,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.5% ในเดือนมี.ค.

Back to top button