PDI ส่องกำไร Q1/60 ยังสดใส โบรกฯแนะซื้อชู P/E-P/BV ต่ำ

PDI ส่องกำไร Q1/60 ยังสดใส โบรกฯแนะซื้อชู P/E-P/BV ต่ำ


บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (10 มี.ค.) ว่า แม้ปี 59 กำไรสุทธิของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ PDI จะโตก้าวกระโดดไปถึง 217% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนเพราะปัจจัยหลักคือ ราคาสังกะสีปรับตัวขึ้นดีมาก บริษัทขายสังกะสีที่ผลิตเองได้ประมาณ 6 หมื่นตัน แต่ปี 60 กลับมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าประหลาดใจนั่นคือ ได้มีการหยุดธุรกิจสังกะสีแบบดั้งเดิมไปในปลายปี 59 เนื่องจากสินแร่สังกะสีได้หมดลง แต่ยังมีสินค้าคงเหลือมาขายปีนี้ 3 หมื่นตันและนำโลหะเข้ามาจำหน่ายอีก 3 หมื่นตัน

แน่นอนว่าการนำเข้ามาจำหน่ายย่อมได้รับอัตรากำไรน้อยกว่าผลิตเอง แต่บริษัทก็มีสิ่งชดเชยคือ รายได้จากธุรกิจพลังไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเริ่มไป 2 โรงคือ ญี่ปุ่นและไทยในจำนวน 8.6 MW ก็จะมาให้กำไรเต็มปี และระหว่างปีจะมีโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นอีก 2 โรง จำนวน 12.9 MW ทยอย COD ดังนั้นหากปีนี้ราคาเฉลี่ยสังกะสียังอยู่ในเกณฑ์ดี เราก็คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้ก็จะยังเติบโตมาก

แต่สิ่งที่ประมาณการได้ในระยะสั้นคือ คาดว่ากำไรในงวดไตรมาส1/60 จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อพิจารณาจากราคาสังกะสี(LME Zinc 3M) เฉลี่ย QTD ของไตรมาส1/60 เป็น 2,708 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับ เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ q-o-q ที่ 1,792 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 2,493 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลำดับ เนื่องจากการปรับขึ้นของราคาสังกะสีเมื่อปี 59 มีลักษณะคล้ายเป็นตัว S (S-Curve) คือมีการปรับขึ้นตามระยะเวลา ขณะที่มีรายได้จาก Solar 2 โรง ซึ่ง เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนยังไม่มี

แม้เราไม่ได้จัดทำประมาณการกำไรงวดปีนี้ แต่ให้ติดตามราคาสังกะสี หากเฉลี่ยปีนี้เพิ่มได้มากกว่า 2,091 เหรียญสหรัฐต่อตันซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของราคาปี 59 ก็มีโอกาสจะเติบโตได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบที่บริษัทต้องรับมือคือ  ปีนี้เป็นการขายสังกะสีนำเข้า 50% ซึ่งมีอัตรากำไรต่ำกว่าผลิตเอง

สำหรับระยะยาวคือ ปี 61 บริษัทตั้งเป้ารายได้มาจาก พลังงาน Solar กับ การจำหน่ายสินค้าประเภท Material ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งผลิตจากเศษโลหะที่กลับนำมาใช้ (recycle) ธุรกิจละ 50% ขณะที่ไม่มีสินค้าคงคลังของสังกะสีอีกแล้ว จึงจะมีแต่การนำเข้ามาจำหน่าย โดยในปี 61 จะมีโรงไฟฟ้าจากญี่ปุ่นเพิ่มอีก 1 โรง เริ่ม COD ในไตรมาส4/61 ในจำนวน 19.5 MW ด้าน Material นั้นเป็นการร่วมทุน PDI-CRT ในสัดส่วน 60/40 ด้วยการใช้เทคโนโลยี Carbon Reduction Technology (CRT)

สำหรับด้านธุรกิจไฟฟ้าทดแทนในระยะยาว บริษัทตั้งเป้าว่าพอถึงปี 62 จะเพิ่มไปเป็น 150 MW ใช้เงินลงทุน 6 พันล้านบาท ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีแล้ว 41 MW คือ ญี่ปุ่น 35 MW และ ไทย 6 MW (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง) สำหรับส่วนเพิ่มบางส่วนจะมาจากโครงการโซล่าฟาร์มของหน่วยราชการและสหกรณ์ เช่น SPP Hybrid โFirm ประมาณ 20MW เขื่อนพลังน้ำที่ลาว 20-50 MW และลงทุนเองด้วยการใช้บ่อที่เคยใช้ในงานผลิตสังกะสี (PDI residual ponds) อีก 80 MW

ไม่ได้จัดทำประมาณการของ PDI แต่เห็นว่า ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน ซื้อขายด้วย P/E และ P/BV ปัจจุบัน ที่ต่ำเพียง 9.5 และ 1.2 เท่า ตามลำดับ ปันผลปี 59 ล่าสุดเป็น 1.00 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนปันผลสูงเป็น 5% และฐานะการเงินดีเป็นเงินสดสุทธิ (net cash position) พร้อมที่จะลงทุนโครงการใหม่ๆได้ จึงคาดว่าจะมีการเก็งกำไร PDI เมื่อภาวะตลาดฯกลับมามีบรรยากาศที่สดใสอีกครั้ง ทั้งในเรื่องกำไร 1Q60 และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

Back to top button