บลจ.กสิกรไทย ควักเงินปันผล 3 กองทุน

บลจ.กสิกรไทย ควักเงินกว่า 400 ลบ. จ่ายปันผล 3 กองทุน พร้อมกันในวันที่ 14 มี.ค. 60


นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย มีกำหนดจ่ายเงินปันผลกองทุนต่างประเทศจำนวน 3กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100-A (ชนิดจ่ายเงินปันผล) หรือ K-USXNDQ-A(div) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560, กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA) ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย

สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 และกองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น (K-GA) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 โดยทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลพร้อมกันในวันที่ 14 มีนาคม 2560 รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 462.73 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุน K-USXNDQ-A(div) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถปรับตัวเป็นบวก 26.12% ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 26.66% (ข้อมูล ณ 28 ก.พ. 60) เนื่องจากกองทุนหลักใช้กลยุทธ์การบริหารเชิงรับ (passive) ที่มุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี NASDAQ-100 ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิง ทั้งนี้ในดัชนีดังกล่าวจะประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่มไอทีเป็นส่วนใหญ่

โดยผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2559 ที่ออกมา หุ้นในกลุ่มไอทีมีผลประกอบการดีกว่าค่าเฉลี่ยและนำเป็นอันดับที่ 1 เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จึงส่งผลให้กองทุน K-USXNDQ-A(div) ที่ลงทุนในหุ้นตามดัชนี NASDAQ-100 มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในรอบบัญชีที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นแรงและต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนจากแผนพัฒนาประเทศที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทยอยประกาศออกมา ซึ่งล่าสุดในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งที่ 2 ต่อสภาคองเกรส ประกาศแผนทุ่มเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเตรียมลดภาษีครั้งใหญ่สำหรับชนชั้นกลาง ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทยมองว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป แม้ว่าระดับราคาหุ้นสหรัฐฯในปัจจุบันจะถือว่าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องติดตามคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงถึง 96% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่หากผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกภูมิภาค อาทิ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป อาจส่งผลต่อจังหวะในการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ” นายนาวินกล่าว

ส่วนมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นจีน นายนาวินกล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจด้วยมุมมองการลงทุนในระยะกลางถึงยาว โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ระดับ 6.5% ในปี 2560 นี้ เพิ่มขึ้นจากการประมาณครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 6.2% ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประกอบกับทางการจีนออกมาตรการควบคุมทางการเงินเพิ่มเติม อาทิ การเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

รวมถึงมาตรการป้องกันการขยายตัวของสินเชื่อที่เร็วเกินไปจนอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้หุ้นจีนยังมีความน่าสนใจในแง่ของระดับราคาที่ปัจจุบันยังซื้อขายอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวและถูกกว่าเมื่อเทียบกับในภูมิภาคอื่น

ด้านผลการดำเนินงานของกองทุน K-CHINA ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 8.21% สามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 5.90% (ณ วันที่ 28 ก.พ. 60) ปัจจุบันกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐบาลจีนที่เน้นการบริโภคในประเทศและการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ อาทิ หมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งผลประกอบการออกมาดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งภาคพลังงานที่ให้ผลตอบแทนดีตามราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพ และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ได้ประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ

ด้านกองทุน K-GA ซึ่งมีนโยบายกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนและ 1 ปี อยู่ที่ 3.39% และ 11.27% โดยกองทุนหลักของกองทุน K-GA ยังคงเน้นคัดเลือกสินทรัพย์เข้ามาในพอร์ตลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนดีในภาวะตลาดการเงินทั่วโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลกเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน

Back to top button