เปิดสาแหรกธุรกิจ GL-โคโนชิตะ (เบื้องต้น)
พ.ศ. 2549 ก่อนหน้าเกิดวิกฤตซับไพรม์ 2 ปี ที่เริ่มต้นในสหรัฐฯ หนึ่งในพี่น้องตระดูลโคโนชิตะจากญี่ปุ่น นายมิตซึจิ โคโนชิตะ ได้เปิดตัวเข้าซื้อกิจการทีเดียว 2 ราย คือ บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US และ บริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชื่อ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ในนามของบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนลึกลับจากญี่ปุ่นชื่อ เอเชีย พาร์ตเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป APF Group (Asia Partnership Fund Group )
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
พ.ศ. 2549 ก่อนหน้าเกิดวิกฤตซับไพรม์ 2 ปี ที่เริ่มต้นในสหรัฐฯ หนึ่งในพี่น้องตระดูลโคโนชิตะจากญี่ปุ่น นายมิตซึจิ โคโนชิตะ ได้เปิดตัวเข้าซื้อกิจการทีเดียว 2 ราย คือ บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US และ บริษัทเช่าซื้อจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชื่อ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ในนามของบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนลึกลับจากญี่ปุ่นชื่อ เอเชีย พาร์ตเนอร์ชิพ ฟันด์ กรุ๊ป APF Group (Asia Partnership Fund Group )
การเปิดตัวอย่างสวยงามดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้น ลังจากที่ผ่านมา APF ได้ใช้เวลาลองผิดลองถูกกับการสร้างอาราจักรธุรกิจหลากหลายจนเปรอะไปหมด แต่มีน้อยรายที่ประสบความสำเร็จ
จากนั้นมา ภาพของมิตซึจิ โคโนชิตะ ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทั้งในไทยและอาเซียนทางด้านบวกในฐานะอดีตครูสอนเทนนิส มาเป็นนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจากญี่ปุ่นโพ้นทะเล
1 ปีต่อมา หลังจากเข้าซื้อกิจการในตลาดหุ้นไทย APF ก้าวกระโดดครั้งสำคัญด้วยการทุ่มเงิน 180 ล้านบาท ที่ระดมจากเมืองไทย เข้าซื้อกิจการในสัดส่วน 40% ของบริษัท Wedge Holdings Co., Ltd. บริษัทผลิตสื่อบันเทิงและเกมที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น Hercules (Osaka Securities Exchange) ของเมืองโอซาก้า พร้อมกับจ่ายเงินอีกบางส่วนไม่ทราบจำนวน เข้าซื้อกิจการขนมหวานของ Asuka Food Group
ระหว่างเกิดวิกฤติซับไพรม์ อาณาจักรของพี่น้องโคโนชิตะ ซึ่งมีนายทัตซึยะ โคโนชิตะ เข้าทำงานในตำแหน่งซีอีโอของบริษัทในกลุ่ม โดยมีนายมิตซึจิ เป็นประธานกรรมการของบริษัท ก็ได้ขยายกิจการต่อไป โดยเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียวชื่อ Showa Rubber Co แล้วเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจมาเป็นธุรกิจโฮลดิ้ง ชื่อ Showa Holdings
หลังจากนั้นการขยายธุรกิจของเครือข่ายโคโนชิตะก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นหลากหลายทั้งในรูปของการถือหุ้นไขว้ (cross shareholding) เพื่อสร้างสินทรัพย์ และซื้อกิจการ หรือตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา โดยมีแกนสำคัญของธุรกิจของ GL ในไทยเป็นหลัก หลังจากที่ขายกิจการของบริษัท หลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ออกจากมือไปให้กับกลุ่มยูโอบี ในปี 2554
อาณาจักรที่ขยายใหญ่โตอย่างซับซ้อนนี้ (ดูแผนภูมประกอบ) ยังไม่เป็นที่ชัดเจนมากนักจนกระทั่งเมื่อต้นปี 2559 เมื่อ GL ต้องการระดมทุนขนาดใหญ่ด้วยการออกหุ้นกู้ระดมทุนครั้งสำคัญ โดยอ้างว่าเพื่อเพื่อขยายธุรกิจในกัมพูชา จากมูลค่ามาร์เก็ตแคปต้นปีนั้นเพียงแค่ 6.1 พันล้านบาท
การขายหุ้นกู้แปลงสภาของ GL ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะได้รับการสนใจจากบริษัทกองทุนลงทุนญี่ปุ่นชื่อ J-Trust Co ที่แสวงหาลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายใหม่ หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จจากการเข้าอุ้มชูทางการเงินให้กับบริษัท PT Bank Mutiara ในอินโดนีเซีย จนฟื้นตัวและมีกำไรงดงามเกินคาดในเวลาอันรวดเร็ว
J-Trust Co ตัดสินใจซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพอายุนาน 3 ปี จำนวนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ออกขายของ GL พร้อมกับซื้อหุ้นสามัญบางส่วนของ GL ด้วย ทำให้ฐานะทางการเงินของ GL โปร่งโล่งตลอด สามารถปล่อยเงินกู้ผ่านบรัทลูกในสิงคโปร์ที่ตั้งขึ้นมาให้กับลูกค้าเป้าหมาย จนกระทั่งล่าสุดเมื่อสิ้นงวดการเงินปี 2559 สินทรัพย์ของ GL มีมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 8.73 หมื่นล้านบาท จากราคาหุ้นที่พุ่งแรงมากจนมีค่าพี/อีสูงถึง 93.72 เท่าเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2559
ผลพวงจากการวิ่งขึ้นของราคาหุ้น GL ที่แรงกว่ากำไร และรายได้ นอกจากทำให้ ทำให้เกิดผลตอบแทนในรูปกำไรจากมูลค่าหุ้นในเครือข่ายของบริษัทในตลาดหุ้นโตเกียวและโอซาก้าของพี่น้องโคโนชิตะอย่างรวดเร็ว แล้วยังเปิดช่องให้กับการระดมทุนก่อหนี้เพิ่มเติมอีก ดังจะเห็นได้จากในเดือนตุลาคม 2559 GL ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเจาะจง ไม่เกิน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ให้กับผู้ซื้อที่ประกอบด้วย JTA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ J-Trust เจ้าเดิม ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ Creation SL ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งเป็นพิเศษ และบริหารงานภายใต้ Creation Investments Capital Management, LLC (Creation) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านจัดการลงทุนในกิจการทางเลือก โดยเน้นการลงทุนในส่วนทุนของสถาบันที่ให้บริการสินเชื่อรายย่อย (Microfinance)
ผู้ถือหุ้นกู้รายหลังนี้เอง ต่อมาถูก GL เข้าซื้อกิจการ และกลายเป็นบริษัทย่อยในเครือของ GL โดยปริยาย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวไปยังตลาดหุ้นโคลัมโบ ในศรีลังกา โดยแลกเปลี่ยนกับการซื้อกิจการเช่าซื้อและไมโครไฟแนนซ์ ขนาดเล็กในเมียนมามาเป็นการตอบแทน
ผลลัพธ์จากการลงทุนซื้อทั้งตราสารหนี้และหุ้นสามัญของ GL ทำให้ผู้บริหารของ J-Trust Co ก็ยังรายงานในหนังสือประกอบงบการเงินงวดล่าสุดระบุว่า มีกำไรบางส่วนที่งดงามจากกำไรที่ยังไม่ได้รับรู้จากราคาหุ้นและตราสารหนี้ที่ถืออยู่ของ GL ด้วย
การสร้างธุรกิจที่อิงกับการเพิ่มขึ้นของมาร์เก็ตแคป บนรากฐานของโครงสร้างที่ซับซ้อน ของโครงสร้างการถือครองหุ้นที่มีทั้งการถือหุ้นไขว้และอื่นๆ ยังคงดำเนินต่อไป โดยในเดือนตุลาคม GL ทำการทุ่มเงินซื้อหุ้นของตลาดหุ้นโคลัมโบ ชื่อ Commercial Credit and Finance ในราคาที่ผู้สอบบัญชีระบุว่า แพงมากกว่าราคาประเมิน โดยเข้าซื้อในสัดส่วนจำนวนร้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ในราคาซื้อ 2,462 ล้านบาท (ราคาซื้อไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อจำนวน 26 ล้านบาท) ที่สูงกว่าราคาตลาด 70% จากบริษัทผู้ขายที่มีกรรมการผู้หนึ่งเป็นกรรมการของบริษัทด้วย ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900-2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600-1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายบริหาร GL ประเมินว่าราคาซื้อคิดเป็นประมาณ 8 เท่าของกำไรของบริษัทร่วมดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559
การเติบใหญ่ดุจ “เทพนิยาย” ของอาณาจักรธุรกิจโคโนชิตะ ที่มี GL เป็นแกนหลัก โดยมีแวดล้อมด้วยบริษัทในเครือข่ายทั้งในตลาดหุ้นโตเกียว โอซาก้า ไทย และโคลัมโบ รวมทั้งบริษัทนอกตลาดหุ้นจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่มันได้สะท้อนให้เห็นเกมอันซับซ้อนที่ใช้ธุรกิจที่กำลังมาแรงเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าทรัพย์สินที่เกินจริง ขึ้นมา อย่างสุ่มเสี่ยงต่อความเปราะบาง
การร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาหุ้นที่โยงใยเข้ากับ GL ในตลาดหุ้นหลายแห่งพร้อมกัน ของเครือข่ายอาณาจักรธุรกิจ โคโนชิตะ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและจนถึงสัปดาห์นี้ เพียงเพราะผลพวงจากความเห็นของผู้สอบบัญชี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่จะตามมาอีกมากมายที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตต่อไป
โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ว่าด้วยการตั้งสำรองหนี้ขนาดใหญ่ของลูกค้าที่ “น่าเชื่อถือ” ซึ่งทางผู้บริหารของ GL ยังคงยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า “ไม่อาจเปิดเผยชื่อ่ได้” ซึ่งถูกผู้สอบบัญชีตั้งคำถามเป็นปริศนาเอาไว้ ให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นว่าเขาเป็นนักธุรกิจข้ามชาติที่มีวิสัยทัศน์ไกล หรือ นักเล่นแร่แปรธาตุระดับเซียนร่วมสมัยกันแน่