ก.ล.ต. เชือดพนักงาน 3 แบงก์ใหญ่ ฐานปฏิบัติงานไม่รอบคอบ

ก.ล.ต. เชือดพนักงาน 4 ราย 3 แบงก์ใหญ่ ฐานปฏิบัติงานไม่รอบคอบ-ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหาย


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้สั่งพักผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ สังกัดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายพีระพงษ์ ธีระเพียร ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และนางสาวธวัลกร คล่องแคล่ว ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

โดยกรณีของนายพีระพงษ์ ก.ล.ต. ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกรุงเทพ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายพีระพงษ์ได้ยืนยันกับลูกค้าว่าสามารถทำรายการขายคืนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองหนึ่งที่ลงทุนในปี 2554 โดยไม่ผิดเงื่อนไขภาษี เป็นเหตุให้ลูกค้าขายคืนหน่วยลงทุนผิดเงื่อนไขภาษี และต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อน และถูกหักภาษีจากกำไรที่เกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุน รวมถึงเบี้ยปรับให้กรมสรรพากร

ส่วนกรณีนางสาวธวัลกร ก.ล.ต. ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกรุงเทพ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นางสาวธวัลกรได้ลงนามในช่อง “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” ในใบคำสั่งขายคืนกองทุนรวมหุ้นระยะยาวของลูกค้า

โดยไม่ได้ทำหน้าที่ติดต่อหรือให้คำแนะนำกับลูกค้า และไม่ได้ตรวจสอบรายงานการถือหน่วยลงทุนในบัญชีกองทุนของลูกค้าก่อน เป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหายจากการขายคืนหน่วยลงทุนบางส่วนผิดเงื่อนไขภาษีและต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อน และถูกหักภาษีจากกำไรที่เกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุน รวมถึงเบี้ยปรับให้กรมสรรพากร

ทั้งนี้ ธนาคารได้จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายให้แก่ลูกค้าทั้งสองรายและยุติข้อร้องเรียนแล้ว

โดยการกระทำของนายพีระพงษ์ เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และการกระทำ ขณะที่นางสาวธวัลกร เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ทั้งนี้การกระทำของบุคคลทั้ง 2 ราย เป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ทาง ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ของนายพีระพงษ์ เป็นเวลา 2 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2560 และสั่งพักนางสาวธวัลกร เป็นเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2560

 

พร้อมทั้งสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ และห้ามปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาในธุรกิจตลาดทุนนางสาวจีรัศยา ถาวร สังกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์รายนางสาวสุวิมล เพียงแก้ว สังกัด ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

โดยกรณีนางสาวจีรัศยา ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์และผู้จัดการสาขา สังกัดธนาคารกสิกรไทย ก.ล.ต ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารกสิกรไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นางสาวจีรัศยาเสนอขายกองทุนรวมที่ไม่เหมาะสมกับข้อมูลผู้ลงทุน (customer profile)

โดยแนะนำให้ลูกค้าสูงอายุที่ไม่เคยลงทุนในกองทุนมาก่อนและไม่สามารถรับการขาดทุนเงินต้นได้ นำเงินจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดของลูกค้าไปลงทุนในกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่าระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้

ส่วนกรณีของนางสาวสุวิมล ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ สังกัดธนาคารธนชาต ก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ลงทุนและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นางสาวสุวิมลเสนอขายกองทุนรวมโดยไม่ได้ประมวลผลระดับความเสี่ยงของลูกค้าก่อนเสนอขาย ไม่ได้แจ้งลูกค้าและให้ลูกค้าลงนามยืนยันการลงทุนเกินความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้

ขณะเดียวกันได้แจ้งประมาณการผลตอบแทนซึ่งทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่แจ้งทั้งที่อัตราดังกล่าวเป็นเพียงเงื่อนไขการรับซื้อคืนกองทุนโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่การประมาณการผลตอบแทน ทั้งนี้ ธนาคารได้จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายให้แก่ลูกค้าแล้ว

โดยการกระทำของนางสาวจีรัศยาและนางสาวสุวิมล เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ การกระทำของบุคคลทั้ง 2 ราย เป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ของนางสาวจีรัศยา

และห้ามปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาในธุรกิจตลาดทุน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 และสั่งพักนางสาวสุวิมล เป็นเวลา 40 วัน แต่เนื่องจากธนาคารต้นสังกัดได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวสุวิมลแล้วเป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2560 จึงเหลือระยะเวลาพักการให้ความเห็นชอบอีก 32 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2560

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้แนะนำการลงทุนต้องให้คำแนะนำและนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบ โดยคำนึงถึง customer profile ของลูกค้า ทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ เป้าหมายการลงทุน เงื่อนไขและข้อจำกัดการลงทุน

รวมถึงเสนอขายกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป หรือลูกค้าที่มีความรู้ทางการเงินน้อย ผู้แนะนำการลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุน โดยเน้นย้ำเรื่องความเสี่ยงของกองทุนรวมให้ชัดเจน

Back to top button