AIT รายได้ปีนี้ 6.8 พันลบ.จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า40%
ในปี 2558 แนวโน้มยังคงมีจ่ายปันผล ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ จ่ายปีละ 2 ครั้ง เพราะ AIT มีกำไรทุกปี
บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT ผู้นำในการให้บริการออกแบบ และรับเหมาวางระบบโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม ถือได้ว่า AIT เป็นบริษัทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ จากการที่ AIT มีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง
“ศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AIT เปิดเผยว่า นโยบายการจ่ายเงินปันผลนั้น บริษัทมีจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องมา 5-6 ปี โดยจ่ายเงินปันผลมาตลอด และจ่ายในอัตราที่ดีด้วย ซึ่งในอดีตบริษัทจ่ายปันผลค่อนข้างมาก 60-70% ของกำไรสุทธิ ต่อมาเมื่อบริษัทโตขึ้น จึงมีการบริหารกระแสเงินสด และเก็บเงินไว้บริหาร จึงจ่ายปันผลอยู่ที่กว่า 50% ของกำไรสุทธิ
โดยในปี 2558 แนวโน้มก็ยังคงมีการจ่ายปันผล ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ จ่ายปีละ 2 ครั้ง เพราะบริษัทมีกำไรทุกปี โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 บริษัทจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 4 บาท และปี 2556 จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 2.75 บาท ส่วนปี 2557 จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 2 บาท ซึ่งดูน้อยลงจากในอดีต เนื่องจากหลังจากเพิ่มทุน ทำให้หุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น จาก 1 เป็น 3 ดังนั้นเมื่อคูณ 3 กับอัตราเงินปันผลปัจจุบัน ก็จะใกล้เคียงอัตราการจ่ายปันผลในอดีต
สำหรับในปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 6,651.55 ล้านบาทเนื่องจากในปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ 2,487 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ในปี 2558บางส่วน และมีงานโครงการต่างๆ ที่บริษัทจะเข้าประมูล ซึ่งมีมูลค่างานที่รอการเปิดประมูลรวมกันไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2560 รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ในการบริหารงานและการขยายธุรกิจของบริษัทนั้นในส่วนของงานโครงการ และงานประมูลต่างๆ บริษัทจะเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม ไปพร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ในภาคเอกชน และการหาผลิตภัณฑ์มาเสริม ทั้งในเรื่องของ Solution และ Cloud
รวมทั้งบริษัทยังลงทุนในธุรกิจที่รายได้เติบโตต่อเนื่องระยะยาว เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งให้เกิดรายได้ที่สม่ำเสมอ มั่นคง และต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมทุนในบริษัท เคิร์ซ จำกัด หรือ KIRZ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ Cloud Applications ในรูปแบบการให้บริการ Cloud Service รองรับความต้องการลูกค้าภาคเอกชน ซึ่งในส่วนนี้ก็จะต้องมีการลงทุนเพิ่มอีก
รวมไปถึงบริษัท เอสแอลเอ เอเซีย จำกัด หรือ SLA Asia ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดยมี SAMART ถือหุ้น 30% และ LOXLEY and AIT Holding ถือหุ้น 60% และอื่นๆ 10% ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาทนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาในโครงการวางระบบข้อมูลที่ดิน ให้กับทางรัฐบาลของลาว มูลค่าลงทุน 200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
อีกทั้ง บริษัท ล็อกซเล่ย์ แอนด์ เอไอที โฮลดิ้ง จำกัด หรือ LAH ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 50% และ LOXLEY ถือหุ้น 50% นั้น ได้เข้าไปขอสัมปทานลงทุนในโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ ในประเทศพม่า ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น และบริษัทข้ามชาติอีกบริษัทหนึ่ง มูลค่าโครงการประมษณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าได้ข้อสรุปภายใน 3-4 เดือนนี้
ส่วนของบริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเป็นพันธมิตรกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT เพื่อดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (MVNO) จาก TOT ซึ่งหากทางโมบาย แอลทีอี ได้รับเลือกให้ทำ MVNO บริษัทก็สนใจเข้าไปร่วมลงทุนกับทางโมบาย แอลทีอีด้วย
นอกจากนี้ จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศ ส่งผลให้มีการลงทุนและพัฒนา ICT มากขึ้น ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นทำตลาดเทคโนโลยีระบบ Cloud & Virtualization หรือเทคโนโลยีสำหรับการจำลองสภาพแวดล้อมให้เสมือนมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่ทำงานอยู่ในคอมพิวเตอร์เครื่องหลัก ช่วยให้สามารถจัดการระบบปฏิบัติการที่หลากหลายให้สามารถทำงานได้บนฮาร์ดแวร์ชุดเดียวกัน โดยเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทได้เซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ 3 บริษัท ได้แก่ NetApp Inc., VMware, Inc.และ F5 Networks, Inc.เพื่อขยายธุรกิจไปสู่ระบบ Cloud & Virtualization
สำหรับโอกาสที่มีผลกับการดำเนินงานของบริษัทนั้น มองว่าปี 2558จะเป็นปีที่ดีของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เนื่องจากภาครัฐได้ชูนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลดีต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ที่คาดว่าจะเพิ่มงบลงทุนระบบไอทีเพิ่มเติม จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเข้าร่วมแข่งขันรับเพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือให้มากขึ้น ส่วนการรอแผนนโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้างนั้น ถือเป็นอุปสรรคที่มีผลกับการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตามบริษัทมีการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด
ด้านความพร้อมของแหล่งเงินทุนที่จะนำมาขยายธุริจนั้น บริษัทมีกระสเงินสดอยู่เกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนเมื่อช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นเงินเกือบ 700 ล้านบาท โดยบริษัทได้กันเงินไว้เพื่อเตรียมลงทุนด้วย ประกอบกับบริษัทมีวงเงินธนาคารที่สามารถกู้ได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดย D/E อยู่ที่ต่ำกว่า 1% เนื่องจากเป็นโครงการกู้ระยะสั้น