พาราสาวะถีอรชุน
วันนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.จะเดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อพบกับอธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สอบถามถึงการตั้งคณะทำงานขึ้นมารื้อคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ใหม่ คำถามที่คาใจก็คือ ทำไมถึงทำเช่นนั้น เพราะหลายคดีดีเอสไอเป็นผู้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการจนนำส่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว
วันนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.จะเดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อพบกับอธิบดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สอบถามถึงการตั้งคณะทำงานขึ้นมารื้อคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ใหม่ คำถามที่คาใจก็คือ ทำไมถึงทำเช่นนั้น เพราะหลายคดีดีเอสไอเป็นผู้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการจนนำส่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว
ที่สำคัญหลายคดีศาลได้มีคำสั่งไปแล้วเช่นกันว่า การตายของผู้ร่วมชุมนุมนั้นเกิดจากคมกระสุนของฝ่ายเจ้าหน้าที่อันหมายถึงทหารซึ่งปฏิบัติงานขณะนั้น ตรงนี้ต่างหากคือสิ่งที่แกนนำและคนเสื้อแดงไม่เข้าใจถึงเจตนาที่มีการสั่งตั้งคณะทำงานในนามของศูนย์ปฏิบัติการกลางเพื่อการสอบสวนคดีพิเศษกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบ พ.ศ.2553
อย่างไรก็ตาม จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ก็ออกมายืนยันว่า ไม่ว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมากี่ชุดก็ตาม ความจริงก็คือความจริง ไม่สามารถที่จะพลิกผันให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะผลชันสูตรศพเป็นเครื่องยืนยัน เป็นหลักฐานที่แน่นหนาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คณะทำงานชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นมาจะไปหาศพที่ไหนมาพิสูจน์เพราะได้ถูกเผาไปหมดแล้ว
พร้อมกันนั้นจตุพรยังได้ย้ำด้วยว่า การจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ไม่มีหนทางอื่น นอกจากทำให้ยุติธรรมปรากฏและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สิ่งที่จะพิสูจน์ได้คงเป็นกระบวนการพิจารณาของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 1 ที่มี “บิ๊กโชย” พลโทกัมปนาท รุดดิษฐ์ บัญชาการอยู่ จะอนุญาตให้คนเสื้อแดงจัดงานทำบุญในวันที่ 10 เมษายนนี้หรือไม่
ถ้าไม่ต้องให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใด ต้องไม่ลืมว่าอีกพวกอีกฝ่ายก็ใช้วิธีการทำบุญเป็นจุดศูนย์รวมในการพบปะพูดคุยเหมือนกัน หรือว่าต้องให้แกนนำนปช.โกนหัวบวชกันให้หมดก่อนถึงจะทำเช่นนั้นได้ ตรงนี้แหละที่ต้องฝากไว้เพื่อให้ผู้มีอำนาจที่ต้องการจะสร้างความปรองดองให้สำเร็จ ความเป็นธรรมและยุติธรรม นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ในวันนี้เช่นเดียวกันรัฐบาลคสช.ได้เชิญทูตแต่ละประเทศพร้อมนักข่าวต่างชาติมาชี้แจงถึงการใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึก โดยส่ง วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐนาวา กับ วินธัย สุวารี โฆษกคสช.เป็นผู้ชี้แจง งานนี้เนติบริกรออกตัวไว้ก่อนแล้ว การใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของคสช.ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี
นอกจากนั้น วิษณุยังบอกว่า แต่ละประเทศมองเรื่องกฎอัยการศึกไม่เหมือนกัน ซึ่งต่างชาติมองอีกอย่าง ขณะที่คนไทยเคยเจอมาตรา 44 มาแล้วหลายครั้ง แต่ต่างชาติไม่เคยพบ และยืนยันว่ามาตรา 44 จะนำมาใช้เล่นงานใครไม่ได้ จนกว่าจะหยิบมาใช้ ซึ่งต้องพิจารณาจากเหตุการณ์จริง เมื่อใช้แล้วจะต้องดูว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ดูกันว่าต่างชาติจะเชื่อตามนั้นหรือไม่ ทูตอาจพอฟังได้แต่ให้ระวังนักข่าวที่จะซักเพื่อให้กระจ่าง
ความจริงเรื่องอำนาจพิเศษเพื่อรักษาความมั่นคงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่คณะรัฐประหารจะต้องมี โดยจะใช้เหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดการกล่าวอ้างก็ได้ จากนั้นค่อยไปหาเสียงสนับสนุนไม่ว่าจะจากนักวิชาการพวกเดียวกันหรือเครือข่ายภาคประชาชนที่ยกมือเชียร์การยึดอำนาจ ถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามยุทธวิธี ใช้ความกลัวในหมู่ประชาชนเป็นเครื่องมือในการรักษาการปกครองไว้
ในขณะเดียวกันเมื่อสยบความเคลื่อนไหวต่างๆ ไว้แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องเร่งทำคือการสร้างผลงานเพื่อให้เกิดความชอบธรรมจากการยึดอำนาจ ตามความเห็นของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ บอกว่า การเร่งรัดโครงการต่างๆ นั้น เป็นการสร้างภาพเผด็จการคุณธรรมหรือเผด็จการอำนาจที่ทรงภูมิปัญญา แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะกำลังไปสู่สภาวะชะงักงันอย่างชัดเจน
ความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมหรือผ่อนเบาความไม่ชอบธรรมของตนด้วยการเร่งสร้างผลงาน ตามรอยอย่างประเทศเผด็จการอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ โครงการต่างๆ มีลักษณะสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไม่มีบูรณาการบนฐานของภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเพียง“มติที่ประชุม” ที่ไร้ปฏิบัติในระยะปัจจุบัน จึงไม่มีผลไปกระตุ้น“การคาดหวังเชิงบวก” ในหมู่ประชาชนและธุรกิจ
ความรุนแรงทางการเมืองโดยอันธพาลการเมืองนับแต่ปลายปี 2556 จนถึงการรัฐประหาร การใช้กฎอัยการศึกและศาลทหาร ได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ การใช้จ่ายบริโภคและลงทุนในประเทศหยุดชะงัก ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่สภาวะซบเซาตั้งแต่กลางปี 2557 เลวร้ายลงเป็นการถดถอยและ “เงินฝืด” ในต้นปี 2558 ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจกำลังมีผลบั่นทอนแรงสนับสนุนจากประชาชนและชนชั้นกลางจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
การต่อต้านของรัฐบาลประเทศตะวันตกต่อรัฐประหาร กฎอัยการศึกและศาลทหาร เป็นไปอย่างรุนแรงและชัดเจน ทั้งความเย็นชาทางการทูต การระงับการเจรจาทางการค้า การชะลอการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทย การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกไปเนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยเสื่อมทรามลง เหล่านี้เป็นการซ้ำเติมความไม่ชอบธรรมและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันความพยายามที่จะชดเชยการคว่ำบาตรจากประชาคมโลกด้วยการเล่นไพ่จีน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถึงที่สุดแล้ว แนวทางการเมืองต่างประเทศของจีนนั้นเป็นการแสวงหาประโยชน์เฉพาะตนฝ่ายเดียวที่เปล่าเปลือยและดุดันยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆ เสียอีก จนตระหนักได้ว่า รัฐบาลเผด็จการจีนไม่อาจเป็นพันธมิตรระยะยาวทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองได้
ยังมีอีกหลายส่วนที่อาจารย์พิชิตได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสภาวะชะงักงันของผู้มีอำนาจ ซึ่งเชื่อแน่ว่ากุนซือและรวมไปถึงท่านผู้นำเองก็พยายามที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะไม่เดินหน้าต่อไปได้ หากยังไม่ก้าวข้ามคำว่า “อคติ” ส่วนที่มีกับนักการเมืองนั้นแค่น้ำจิ้ม แต่หลักๆ คือคนฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มคนเสื้อแดงถ้ายังมีสิ่งนี้อยู่ก็ยากที่ประเทศจะสลัดหลุดพ้นความขัดแย้งและก้าวไปข้างหน้าได้