พาราสาวะถี
ความน่าเชื่อถือหรือศรัทธาของผู้มีอำนาจไม่ได้อยู่ที่ว่าจะใช้ “อภินิหาร” ในข้อกฎหมายเมื่อจัดการเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้เป็นที่ถูกอกถูกใจกองเชียร์ได้สำเร็จหรือไม่ หากแต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสต่างหาก เช่นเดียวกับคำว่าเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งข้อรังเกียจ
อรชุน
ความน่าเชื่อถือหรือศรัทธาของผู้มีอำนาจไม่ได้อยู่ที่ว่าจะใช้ “อภินิหาร” ในข้อกฎหมายเมื่อจัดการเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้เป็นที่ถูกอกถูกใจกองเชียร์ได้สำเร็จหรือไม่ หากแต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรมและโปร่งใสต่างหาก เช่นเดียวกับคำว่าเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งข้อรังเกียจ
ที่ในความเป็นจริงก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ในหลายตำแหน่งขององคาพยพแม่น้ำ 5 สาย จนเกิดข้อกังขาตามมาว่า คนเหล่านั้นได้เข้ามามีตำแหน่งแห่งหนเพราะความรู้ความสามารถหรือความเป็นเครือญาติกันแน่ แต่นั่นคงยากที่จะมีใครไปตรวจสอบหรือค้นหาคำอธิบาย ยิ่งไปถามผู้นำสูงสุดแทนที่จะได้คำตอบอันเป็นเหตุเป็นผล จะถูกด่าเปิงกลับมาเสียอีก
ด้วยเหตุที่คำสั่งหรือความเด็ดขาดอันเป็นความมุ่งมาดปรารถนาของผู้มีอำนาจยุคนี้คือกฎหมาย ที่การันตีโดยศาล ดังนั้น ไม่ว่าใครจะขยับทำอะไร หากอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดบอกว่าไม่ ทุกอย่างก็ไม่สามารถที่จะขยับขับเคลื่อนอะไรต่อไปได้อีก แม้แต่องคาพยพของกระบวนการยุติธรรมเองก็ตาม จนเริ่มมีข้อคำถามว่า ฝ่ายยุติธรรมนั้นควรจะรับคำสั่งจากคสช.หรือเห็นคุณค่าในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ศาลแขวงรัฐบาลกลางฮาวาย มีคำพิพากษาฉุกเฉินระงับคำสั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ห้ามประชาชนในประเทศมุสลิมเข้าประเทศอีกครั้งหนึ่ง ที่แม้อาจเป็นตัวเปรียบเทียบที่ไม่ได้ทาบทับกันสนิท แต่อย่างน้อยคงเห็นว่า อำนาจตุลาการของสหรัฐฯพยายามปกป้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
กลับมาที่บ้านเรา อำนาจตุลาการกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและมุ่งขยายอำนาจรัฐ โดยเยาวลักษ์อธิบายว่า เป็นที่รับรู้กันดี ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร ศาลซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจหลักจะให้ความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร โดยใช้เหตุผลว่าเมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จย่อมมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และคำสั่งหรือการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ย่อมเป็นกฎหมาย เมื่อฐานคิดของอำนาจตุลาการเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาจึงมักยืนอยู่คนละฟากกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ทำให้เยาวลักษ์สรุปว่า เป็นมาตราที่ไม่เป็นจริง แต่เขียนไว้เพื่อหลอกชาวโลก
อีกคดีหนึ่งที่แสดงชัดเจนถึงฐานคิดของศาลไทยต่ออำนาจรัฏฐาธิปัตย์คือคดีของ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่ออกเดินจากบ้านไปศาลทหาร และถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 ให้เป็นคดีความมั่นคง ทางเยาวลักษ์และศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนได้ทำการโต้แย้งกับศาลทหารว่าเป็นพลเรือนต้องไม่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารตามกติการะหว่างประเทศ
ศาลทหารได้ส่งให้ศาลยุติธรรมให้ความเห็น โดยศาลอาญาได้ให้ความเห็นที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ว่า ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนได้
อะไรคือสิ่งที่ทำให้สถาบันศาลและตุลาการมีฐานความคิดโอนเอียงไปทางอำนาจนิยม เยาวลักษ์ให้ทัศนะว่า ในสามอำนาจคืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ มีอำนาจตุลาการอำนาจเดียวที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ฉะนั้น จึงเห็นว่าตุลาการไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่เจตนารมณ์ของสามอำนาจเขียนไว้ชัด
และยังเป็นเรื่องของวิธีคิด การเรียนการสอนของหลักสูตรนิติศาสตร์ของไทยด้วย คือสอนแต่ตัวบทกฎหมาย เขาชอบแซวว่าพวกนักกฎหมายเป็นพวกที่กักขังตัวเองอยู่กับตัวบท อ่านแต่ตัวบท แต่ไม่ได้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่ามีที่มาอย่างไร ตอนหลังเราจึงเห็นคดีที่วินิจฉัยตามตัวบท โดยไม่มีมิติสังคม การเมือง ไม่มีอะไรเลย วินิจฉัยแบบมุ่งดูแค่พยานหลักฐาน กลายเป็นนักกฎหมายเทคนิค
ในต่างประเทศ ถ้าจะเรียนนิติศาสตร์ คุณต้องจบปริญญาตรีก่อนใบหนึ่ง แล้วเรียนนิติศาสตร์เป็นใบที่สอง ประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายควรมีมากกว่า 10 ปีถึงจะไปเป็นผู้พิพากษาได้ แต่ของเราคือ จบนิติศาสตร์ สอบเนติบัณฑิต แล้วก็เข้าเส้นทาง อายุ 25 ปีก็เป็นผู้พิพากษา การให้คุณค่าของตำแหน่งตุลาการก็ถูกให้ค่าไว้สูงมาก กลายเป็นตำแหน่งที่พิเศษมากกว่าอาชีพนักกฎหมายอื่น
ปกติอำนาจตุลาการต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ระบบยุติธรรมเราตอนนี้รับรองอำนาจรัฐเผด็จการ ยอมรับอำนาจของคสช. แล้วตรวจสอบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน มันกลับตาลปัตรกัน ด้วยเหตุนี้เมื่อมีคำว่าอภินิหารกฎหมายออกมาจากปากเนติบริกรประจำรัฐบาล มันจึงทำให้คนมองข้ามช็อตต่อไปยังกระบวนการปลายทางในทันที
การไล่บี้เรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปจึงไม่ใช่แค่มิติของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมายเท่านั้น เพราะอภินิหารกฎหมายนั้น มันช่วยอธิบายความอะไรได้หลายๆ ประการ เช่นเดียวกับการพยายามอธิบายของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง. ที่อ้างว่าต้องปูดเรื่องรีดภาษี 60 นักการเมือง เพื่อไม่ให้คนมองสตง.ว่ามีวาระซ่อนเร้นต่อการบีบเค้นให้สรรพากรจัดการเก็บภาษีจาก ทักษิณ ชินวัตร
พูดง่ายๆ ว่า ทุกอย่างที่ดำเนินการไปเป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมายไม่ใช่เกมการเมือง เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงตรงนี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำเตือนของ พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ เจ้าคุณพิพิธฯ ที่สะกิดว่าถ้าจะสร้างความปรองดองต้องมีเมตตาธรรม แต่ดูผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้แล้วมันตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ถ้าเช่นนั้นเรื่องบ้านเมืองสงบ คนไทยรักกัน คงต้องพึ่งอภินิหารกันแล้วกระมัง