ปริศนาดอลลาร์

ดอลลาร์ร่วงหลุด 111 เยน ทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อวานนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติ และทำให้มีคำถามกลับมาคือ การอ่อนค่าของดอลลาร์ เป็นเจตนา หรือ เป็นภาวะธรรมชาติ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

ดอลลาร์ร่วงหลุด 111 เยน ทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อวานนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติ และทำให้มีคำถามกลับมาคือ การอ่อนค่าของดอลลาร์ เป็นเจตนา หรือ เป็นภาวะธรรมชาติ

คำอธิบายระยะสั้นคือ นักลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ต่างพากันซื้อขายอย่างระมัดระวังก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” แทน “โอบามาแคร์” ในคืนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งในสภาคองเกรสเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” จะส่งผลกระทบทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น การปฏิรูปภาษี, การผ่อนคลายกฎระเบียบ และการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการสาธารณูปโภค ต้องล่าช้าออกไป

นักวิเคราะห์ระบุว่า ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงต่อไป หากร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” ไม่ผ่านการอนุมัติของสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้

คำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คำตอบที่น่าพึงพอใจ เพราะก่อนหน้านี้ มีการคาดเดาว่า ทันทีที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้เงินทุนไหลเข้าไปยังสหรัฐจากทั่วโลกมากขึ้น จนค่าดอลลาร์แข็งทั่วโลก แต่เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยจริง ค่าดอลลาร์กลับวิ่งสวนทางลงอย่างชัดเจนและรุนแรงยิ่ง เหนือความคาดหมาย

มองจากมุมของคนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ค่าดอลลาร์อ่อนลง ทำให้คนหวนรำลึกถึง ช่วงเวลาที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เคยวางระเบิดเวลาลูกใหญ่แบบ เดอร์ตี้ บอมบ์ ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ระบุว่า เงินดอลลาร์ขณะนี้ แข็งค่ามากเกินไป ทำให้บริษัทในสหรัฐไม่สามารถแข่งขันกับประเทศจีนได้ ซึ่งเคยส่งผลให้ค่าดอลลาร์ร่วงอย่างหนักทั่วโลก แตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนมาแล้ว

ครั้งนั้น โจทย์ที่นักลงทุนถามกันมากคือ สหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ จะยกเลิกนโยบายดอลลาร์แข็งที่เฟดใช้มายาวนาน แล้วนำเอานโยบายดอลลาร์อ่อนที่ขัดแย้งกับเฟดมาใช้แทน จะทำตลาดเงินและตลาดเก็งกำไรปั่นป่วนด้วยความไม่แน่นอน และอาจจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเฟด

ดังที่ทราบกันดี นับตั้งแต่การล่มสลายของข้อตกลงเบรตันวูด โลกได้หันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว โดยที่สหรัฐร่วมทำข้อตกลงกับชาติโอเปกว่า ต้องให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักในการซื้อขายน้ำมัน ค่าดอลลาร์สหรัฐก็สูงเกินจริงมาโดยตลอด

ยุทธศาสตร์ดอลลาร์แข็งของสหรัฐมีทั้งข้อดีและเสียในตัวเองเสมอมาตลอด 50 ปีนี้ เพราะด้านลบของค่าดอลลาร์แข็งคือ ดุลการค้าของสหรัฐขาดดุลเรื้อรังมายาวนาน แต่เศรษฐกิจสหรัฐคงอยู่ได้แข็งแกร่งมาโดยตลอดไม่ซวนเซเพราะดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินได้เปรียบเสมอมาจากเงินทุนทั่วโลกที่ถือดอลลาร์เป็นสกุลหลัก และไหลเข้ามาในสหรัฐต่อเนื่องทั้งในการลงทุนโดยตรง การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและเงินลงทุนเก็งกำไร

ดอลลาร์แข็ง ถือเป็นแกนหลักทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐตลอดมา จนเกิดข้อสรุปว่า ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีเฟดเป็นผู้บริหารจัดการมาโดยตลอด และบทบาทของเฟดในฐานะธนาคารกลางที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน ก็มีส่วนทำให้ค่าดอลลาร์แข็งค่าและเป็นเงินสกุลที่ทรงอิทธิพลเหนือโลกมาโดยตลอด

อัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ในยามปกติมักจะแพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งมากเกินขนาด ส่งผลเสียต่อดุลการค้าและการส่งออก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิต ต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก

นโยบายดอลลาร์แข็งเพิ่งจะถูกปรับเปลี่ยนก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา เพราะคณะกรรมการเฟดต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน แต่ผลข้างเคียงสำคัญคือ ดอกเบี้ยต่ำติดพื้นเป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิดกระบวนการไหลออกของทุนจากสหรัฐไปทำดอลลาร์ แครี่ เทรด ในประเทศทั่วโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจการเงินและชาติต่างๆ ในโลก อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านดอลลาร์ แครี่ เทรด ต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐหลังวิกฤตซับไพรม์ได้รับการแก้ไขจนฟื้นตัวในปัจจุบัน บังคับให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น ได้ถูกโต้แย้งจากนโยบายของทรัมป์ ที่ทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาว่า ยุทธศาสตร์ของเฟดจากนี้ไป ต้องการดอลลาร์แข็งหรืออ่อนกันแน่

คำอธิบายของทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวข้างต้น สามารถโต้แย้งได้ว่า มีหลักฐานเชื่อมโยงว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์เกิดขึ้นเพราะเจตนา เพราะโดยลำพังแล้ว ทรัมป์กับพวกในทำเนียบขาวยามนี้ ก็ยังไม่สามารถออกนโยบายที่ชัดเจนมาได้เลย และยากที่จะต้านทานอำนาจของเฟดได้อย่างมีประสิทธิผล

เพียงแต่คำอธิบายอื่นว่า เพราะคำพูดของเฟดเองที่บอกว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแค่อีก 2 ครั้งในปีนี้ รวมทั้งความกังวลของนักลงทุนว่าความไม่แน่นอนของนโยบายปฏิรูปภาษีและการผ่อนคลายกติกาทำธุรกิจ ก็ไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์ที่รวดเร็วมากในสัปดาห์นี้ เกิดขึ้นได้รุนแรงจากสาเหตุใด

ปริศนาการอ่อนค่าของดอลลาร์ จึงยังคงต้องขบคิดหาคำตอบต่อไป

Back to top button