เส้นทางคดเคี้ยวของทรัมป์

ความพ่ายแพ้ครั้งที่สอง (ถัดจากครั้งเมื่อออกกฎหมายห้ามมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐ) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่เป็นการแพ้อย่างชนิดหมดรูปครั้งแรกในรัฐสภาของโดนัลด์ ทรัมป์ ชนิดที่ ส.ส.ในพรรครีพับลิกันยังไม่ให้การสนับสนุน จนต้องถอนร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" ออกจากวาระ เป็นบทเรียนใหญ่หลวง ที่คนนำเสนอยังไม่สำนึกตัว


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

ความพ่ายแพ้ครั้งที่สอง (ถัดจากครั้งเมื่อออกกฎหมายห้ามมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐ) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่เป็นการแพ้อย่างชนิดหมดรูปครั้งแรกในรัฐสภาของโดนัลด์ ทรัมป์ ชนิดที่ ส.ส.ในพรรครีพับลิกันยังไม่ให้การสนับสนุน จนต้องถอนร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” ที่จะนำมาใช้แทนกฎหมาย “โอบามาแคร์” ออกจากวาระ เป็นบทเรียนใหญ่หลวง ที่คนนำเสนอยังไม่สำนึกตัว

การงัดเอาทุพภาษิตเก่ายุคสิ้นสุดสงครามเย็น มาปลอบใจทีมงานทรัมป์ของที่ว่า “อเมริกาแพ้ศึกที่เวียดนาม เพื่อล่มสลายสหภาพโซเวียต” หรือแพ้ศึกย่อย แต่ชนะสงครามใหญ่ เป็นจิตวิทยาแบบองุ่นเปรี้ยว-มะนาวหวานธรรมดาของคนดื้อรั้น ที่ยังมีคนบางส่วนเชื่ออย่างไม่ต้องใช้สมองตรึกตรองด้วยซ้ำ

หนึ่งในกลุ่มคนที่เชื่อคือนักลงทุนขาใหญ่ในวอลล์สตรีท ที่พยายามแก้ต่างว่า การถอนร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” เป็นแค่การเปิดทางสะดวก “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” ให้แก่การเสนอร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจและผ่อนคลายกติกาทำธุรกิจที่สำคัญกว่า

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ยื่นคำขาดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย “อเมริกันเฮลธ์แคร์” โดยระบุว่า ซึ่งหากสภาไม่ให้การอนุมัติ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ประกาศว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยจะปล่อยให้กฎหมายประกันสุขภาพ “โอบามาแคร์” มีผลบังคับใช้ต่อไป และเขาจะหันไปผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาษี

ในเบื้องต้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีคือ “โอบามาแคร์” (ฉายาที่ใช้เรียกกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุข ที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาลของนายบารัค โอบามา) จะมีผลใช้บังคับต่อไป แม้ว่ากฎหมายดังกล่าว จะถูกนักการเมืองพรรครีพับลิกันรังเกียจมาตั้งแต่ต้น

โดยสาระสำคัญ กฎหมายโอบามาแคร์ เป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ นับตั้งแต่กำเนิดโครงการ “เมดิเคด (Medicaid)” และ “เมคิแคร์ (Medicare)” เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว

เดิมทีในสหรัฐ รัฐบาลกลางจะไม่จัดสวัสดิการสาธารณสุขให้คนมากเท่าในยุโรป และระบบประกันสุขภาพก็ยังอยู่ในขั้นแบเบาะ  เป้าหมายหลักของ “โอบามาแคร์” คือการทำให้บริการระบบสาธารณสุขเป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี และไม่ขึ้นกับความรวยหรือจนมากเท่าที่เป็นอยู่

วิธีการที่ “โอบามาแคร์” ทำนั้น ไม่ใช่การสร้างระบบประกันสุขภาพฟรีถ้วนหน้า เพราะสิ่งนี้ดูจะยังเป็นไปไม่ได้ในประเทศอย่างสหรัฐ ที่คนจำนวนมากยังต่อต้านรัฐสวัสดิการ  สิ่งที่ “โอบามาแคร์” ทำ คือการให้รัฐบาลใช้เงินอุดหนุนให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน และปรับเงินคนที่ไม่ยอมซื้อประกัน  ในขณะเดียวกันก็บังคับให้บริษัทเอกชนที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ต้องซื้อประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง  และบังคับบริษัทประกันให้ขายประกันให้ทุกคนในราคาเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยกระหว่างผู้อายุมากกับอายุน้อย พิการกับไม่พิการ มีโรคกับไม่มีโรค

ที่สำคัญคือ “โอบามาแคร์” ยังขยายจำนวนผู้ที่จะใช้บริการรักษาพยาบาลของรัฐ ภายใต้โครงการ “เมดิเคด” เพิ่มขึ้นด้วย โดยแต่เดิม คนที่มีสิทธิใช้บริการนี้คือคนจนที่รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ภายใต้ “โอบามาแคร์” คนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 33 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังสามารถใช้บริการได้

วงเงินงบประมาณที่พุ่งขึ้นกระฉูดจากโอบามาแคร์คือ ประเด็นที่มีนักการเมืองจากค่ายรีพับลิกันมองว่า เป็นภาระทางการคลัง และเปิดช่องให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

ในสายตาของนักการเมืองรีพับลิกันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัดในพรรค เห็นว่าข้อเสนอในร่างกฎหมายของทรัมป์ “อเมริกันเฮลธ์แคร์” ที่คาดว่าจะมาแทน “โอบามาแคร์” มีลักษณะประนีประนอมและ “อ่อนหัด” มากเกินไป กว่าที่จะให้การสนับสนุน

เมื่อทรัมป์พ่ายแพ้ในพรรคตนเอง สิ่งที่ทรัมป์ต้องทำต่อไป และมีทางเลือกน้อยลงคือ เร่งเสนอทางเลือกในการนำเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีมาทดแทน ด้วยมาตรการ “ยาแรง” เพื่อให้ถูกใจพวกขวาจัดในพรรคใหม่อีกครั้ง

คำถามคือ ในทางปฏิบัติ ทรัมป์จะกล้านำเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ลงเหลือเฉลี่ย 15% ตามที่ให้คำมั่นไว้ ซึ่งหมายถึงการที่ฐานะการคลังของรัฐบาลกลางในอนาคตจะเลวร้ายลง เพราะค่าใช้จ่ายที่ไม่ลดลงของโอบามาแคร์ จะเร่งสร้างแรงกดดันต่อภาระการคลังมากกว่าเดิม จากปัจจุบันที่รัฐบาลสหรัฐมีฐานะการคลังที่ย่ำแย่ เพราะงบประมาณติดลบมานานหลายปีต่อเนื่อง จนหนี้สาธารณะพุ่งเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่อง

ประเด็นที่เป็นความท้าทายสำคัญ เพราะในช่วงหาเสียงก่อนเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์มีจุดเด่นทางนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่ง คือ การใช้มาตรการทางการคลังด้วยการผันงบประมาณมาสร้างงานให้คนอเมริกันมากขึ้น

   คำพูด “เราจะสร้างถนนใหม่ ทางหลวงใหม่ รวมทั้งสะพาน สนามบิน อุโมงค์ และทางรถไฟทั่วประเทศ …เราจะทำให้ประชาชนของเราออกจากการรับสวัสดิการสังคมและกลับมาทำงานเพื่อสร้างชาติด้วยแรงงานอเมริกัน….เราจะทำตามกฎง่ายๆ สองข้อ คือ ซื้อของอเมริกัน และจ้างคนอเมริกัน” กำลังถูกทดสอบครั้งสำคัญ ในช่วงเวลาดอกเบี้ยเริ่มผงกฟื้นตัว (Reflation Stage)

นักลงทุนจำนวนมากในตลาดเก็งกำไรส่วนใหญ่ขานรับ และเชื่อมั่นว่า จุดเด่นของทรัมป์ที่เหนือกว่า จะทำให้เอกชนอเมริกันเริ่มต้นการลงทุน จ้างงาน และก่อหนี้ครั้งใหม่ ไม่รีรออีกต่อไป ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตของการลงทุนที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 4.3% ต่ำกว่า 6.3% ก่อนวิกฤตซับไพรม์ สามารถกลับฟื้นคืนมาได้อีก

นอกจากนั้น คำมั่นที่จะลดเลิกกติกาที่ขัดขวางการลงทุน และลดภาษี  ถือเป็นจุดเด่นที่สุดของรัฐบาลทรัมป์ ยากจะปฏิเสธได้

เพียงแต่นโยบายที่ “โดนใจ” แต่ไม่สามารถแปลให้เป็นรูปธรรมได้ จะกลายเป็นจุดด้อยในทันที และพร้อมจะถาโถมเล่นงานเจ้าตัวได้ง่ายและเร็วมาก

คำแก้ตัวของผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทที่เชื่อว่า ตราบใดที่มาตรการปฏิรูปภาษีและลดกติกาการทำธุรกิจยังอยู่ในท่อของนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ตลาดหุ้นจะยังไม่สูญเสียภาวะกระทิงเด็ดขาด

คำปลอบใจตนเองดังกล่าว ไม่ได้ช่วยให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนท่าทีมากนัก เพราะโอกาสที่ค่าดอลลาร์จะกระเตื้องขึ้นห่างไกลออกไปอีก ฟันด์โฟลว์ในตลาดเกิดใหม่ที่รอหวนกลับมารับข่าวดีในสหรัฐก็จำต้องค้างเติ่งวนเวียนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ที่จะยังเป็นขาขึ้นต่ออีกระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์ของทรัมป์จะเปลี่ยนไป

Back to top button