แพะตัวใหญ่ที่ขสมก.

นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งเด้ง สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก.เข้ากรุ สำนักนายกฯ เปิดทางปลดล็อกปัญหาซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน เหตุยื้อเลิกสัญญา ทำประชาชนเสียโอกาส ถือเป็น “แพะล่าสุด” ที่ตกเป็นเหยื่อของความเละเทะในระบบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐไทย ที่เรื้อรังมายาวนาน


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งเด้ง สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก.เข้ากรุ สำนักนายกฯ เปิดทางปลดล็อกปัญหาซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน เหตุยื้อเลิกสัญญา ทำประชาชนเสียโอกาส ถือเป็น “แพะล่าสุด” ที่ตกเป็นเหยื่อของความเละเทะในระบบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐไทย ที่เรื้อรังมายาวนาน

เพียงแต่กรณีของขสมก.นี้ โดดเด่นมากเป็นพิเศษ เพราะมีตัวแปรที่สะท้อนความเน่าเฟะได้ชัดเจนกว่าการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ

TOR การประมูลเป็นผู้ผลิตและประกอบรถเมล์ NGV ให้กับขสมก. 489 คัน มูลค่า 1.5 พันล้านบาทเศษ  พร้อมกับสัญญาซ่อมบำรุงอีกประมาณ 2.2 พันล้านบาทภายใน 10 ปีข้างหน้า มีเงื่อนไขที่ผ่านการตรึกตรอง ซึ่งกว่าจะร่างเพื่อให้ประมูลได้กินเวลานานหลายปี ผ่านหลายรัฐบาล แถมในบอร์ดยังมีนักกฎหมายนั่งกันหน้าสลอน น่าจะมีความรัดกุมอย่างมาก แต่ความจริงซ่อนเงื่อนไขเอาไว้ว่ามีการออกแบบประหนึ่งว่ามีการ “ล็อกสเป็ก” กันไว้ล่วงหน้า

ความต้องการรถเมล์ใหม่ของขสมก.นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรถรุ่นใหม่สุดที่สั่งเอามาใช้งานนั้น มีอายุเกินกว่า 20 ปีแล้ว จะต้องโละทิ้งเพราะหมดสภาพกันไปแล้ว แต่ที่ล่าช้าก็เพราะผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลมีการออกแบบเอาไว้ ทำให้เกิดสภาพ “เล่นท่ายาก” ขึ้นมา

เงื่อนไขการประมูลที่ระบุว่า บริษัทที่ชนะการประมูล จะต้องทยอยส่งมอบรถเมล์ NGV ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ ทั้งหมดรวม 4 ล็อต ภายในระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่เซ็นสัญญา มีผู้สนใจเข้าประมูล 2 รายเท่านั้น คือบริษัทไทยหนึ่งราย นำโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ที่หมายมั่นว่าจะสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงจากศักยภาพที่มีเต็มเปี่ยม เพราะคู่แข่งรายเดียวอย่าง บริษัทจีน เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (ที่จดทะเบียนเสมือนหนึ่งบริษัทไทย) ไม่ได้มีอะไรเหนือกว่า

ผลการประมูลเป็นไปตามคาด แต่ เบสท์ริน กรุ๊ป ที่เป็นผู้แพ้ราบคาด ได้หาทางขัดขวางด้วยการร้องเรียนว่ามีการทุจริตไปยังหลายหน่วยงาน รวมทั้งยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล เพื่อระงับการลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของขสมก. และรักษาการผู้อำนวยการขสมก.  ทำให้การลงนามส่งมอบรถและซ่อมบำรุงถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกล่าช้ามานานกว่า 6 เดือน ก่อนที่บอร์ดขสมก. จะอ้างคำวินิจฉัยของกวพ.อ. มาหาเรื่องยกเลิกประมูลเอาดื้อๆ เพราะมั่นใจว่าในเงื่อนไข TOR ประมูลบอกว่า สามารถยกเลิกได้ โดยคนที่เข้าประมูลไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้อง…

ถือเป็นการตั้งการ์ดเอาไว้รัดกุมตั้งแต่ต้น ตามประสาหน่วยงานรัฐ…รับชอบอย่างเดียว ผิดอยู่ที่คนอื่น

ผลของการยกเลิกประมูล ไม่เพียงทำให้ค่าเสียโอกาสของ CHO มีมหาศาล เป้าหมายรายได้ที่เคยคาดว่าจะเติบโตปีนี้มากถึง 50% ลดฮวบมาเหลือแค่ 2%…เสียหายยับเยินแล้ว ยังทำให้ความล่าช้าในการเอารถเมล์มาให้บริการประชาชนล่าช้าไปอีก

จากนั้นก็มีการเปิดประมูลรอบที่สอง ครั้งนี้เบสท์ริน กรุ๊ป รู้ทางของคู่แข่งชัด จึงกดราคาประมูลเต็มที่ ทำให้ได้รับชัยชนะในการประมูลสมใจ

ตามมาด้วยการเร่งร้อนเซ็นสัญญาที่ผิดปกติ โดยที่ขสมก.เร่งเซ็นสัญญากับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด พร้อมเปิดตัวรถโดยสารตัวอย่างในงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 40 ปี ขสมก. แถมโอ้อวดว่าก้าวต่อไปปีที่ 41 จะเร่งดำเนินงานโครงการต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การ เช่น โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน โครงการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน, โครงการปรับปรุงสภาพรถโดยสารเก่า 672 คัน ฯลฯ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้  นอกจากนี้จะมีการติดตั้งระบบ GPS, บริการฟรี WIFI, กล้อง CCTV เพื่อตรวจติดตามพฤติกรรมคนขับ และติดตามรถโดยสารให้ขับไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ลดการเกิดอุบัติเหตุ, ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-TICKET) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบบัตรโดยสารร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ

การเร่งทำสัญญาดังกล่าว  ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ต้องชำระภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 232 ล้านบาท และให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้ากรณีเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์โดยสาร ซึ่งผิดข้อตกลงในเงื่อนไขเรื่องสัญญาคุณธรรมของผู้เข้าประมูล แต่ผู้บริหารของขสมก.ก็ไม่ใส่ใจ

แล้วก็อย่างที่ทราบ ไม่สามารถนำรถมาส่งได้ตามเงื่อนไขก็เพราะถูกจับได้จากกรมศุลกากรไทยว่า ทำผิดเงื่อนไขในการนำเข้า แทนที่จะเป็นจากมาเลเซีย แต่เป็นการนำเข้ามาจากจีนโดยตรง

คำชี้แจงของรัฐมนตรีคมนาคมว่าสาเหตุการโยกย้ายนายสุระชัยพ้นจากตำแหน่งผอ.ขสมก.นั้นมาจากปัญหาการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 489 คัน เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากการจะรับรถหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของผู้ซื้อที่จะพิจารณา นอกจากผอ.ขสมก.จะเป็นผู้ลงนามแล้ว มีบอร์ดขสมก.ที่จะช่วยพิจารณาด้วยกรณีมีข้อผิดพลาดไป จากที่สั่งซื้อผอ.ขสมก.จะต้องพิจารณาเรื่องแหล่งกำเนิดรถ แหล่งประกอบรถว่าเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาและ TOR หรือไม่ หากไม่ถูกต้องครบถ้วนคงไม่มีใครกล้ารับรถ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ที่ว่าไม่ได้ช่วยเพราะเงื่อนไขต่อท้ายของรัฐบาล คือ คำชี้แจงต่อของรัฐมนตรีคมนาคมที่ว่า …คงไม่สามารถระบุได้ว่าปัญหาเรื่องการซื้อรถเมล์ NGV จะได้ข้อยุติได้เลยภายในอาทิตย์นี้ อาทิตย์หน้า ต้องให้เวลาการพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นไปตามข้อกฎหมาย รักษาการผอ.ขสมก.ที่ตั้งขึ้น จะมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารองค์กร เช่นเดียวกับรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แม้ไม่ได้เป็นตัวจริง แต่สามารถใช้อำนาจบริหารองค์กรได้เต็มที่เพื่อขับเคลื่อนองค์กร

ข้อกล่าวหาว่านายสุระชัยที่เป็น “แพะ” ในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคำพูดในทำนองว่า ที่ผ่านมา นายสุระชัย ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเพื่อแก้ปัญหา ทั้งที่กรรมการตรวจรับรถมีความเห็นไปแล้วว่าไม่ต้องสนใจกรณีที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลกับกรมศุลกากรจะได้ข้อสรุปทางคดีกันอย่างไร เนื่องจากไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ขณะที่เบสท์รินฯ ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามระยะเวลาที่สัญญากำหนด ขสมก.มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ โดยขสมก.เป็นผู้มีอำนาจบอกเลิกสัญญาคนเดียวแต่กลับไม่ทำอะไร ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ และทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้ใช้รถเมล์ใหม่ …เป็นข้อกล่าวหาปกติที่ชาชินในวงการราชการไทย

แพะอย่างนายสุระชัย ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่ตัวสุดท้าย ตราบใดที่ระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐยังเป็นเช่นนี้

Back to top button