“ชายอุ๋ย”วอนสนช.ใช้วิจารณญาน หวั่น “บรรษัทน้ำมันฯ” ฉุดศก.ล่ม
"หม่อมอุ๋ย" วอนสมาชิกสนช. ใช้วิจารณญาณในการลงคะแนน หวั่นตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ส่งผลเสียต่อความเจริญของประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (27 มี.ค.60 ) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ซึ่ง สนช.จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่ระบุเรื่องการตั้ง NOC ไว้ในบทเฉพาะกาล ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
โดยเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มี.ค. อยากให้ลงมติรับร่างกฏหมายฉบับนี้โดยตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป เพราะหาก สนช.ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ตามที่คณะกรรมการวิสามัญเสนอมา ซึ่งรวมมาตรา 10/1 เท่ากับว่าสนับสนุนให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน
ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าการศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ เพราะหน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ และแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ จึงเชื่อว่าต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน
“เพื่อนของผมบอกผมว่า ถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา หากไม่มีใครชี้แจงให้เขาเห็นข้อดีข้อเสีย เขาก็จะลงมติตามที่บอกต่อกันมา
แต่ถ้าเราชี้แจงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติ เขาก็จะคิดได้และเขาก็มีความเป็นตัวเองที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผมจึงขอวิงวอนมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้โปรดได้ดุลยพินิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยเถิด ผมอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเหมือน 50 ปี ก่อน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เนื่องจากมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงเลือกวิธีการทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมระบุว่า เมื่อตอนต้นปี 58 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปี จำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะเจาะนำขึ้นมาใช้ได้อีกนาน
ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ โดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด แต่ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้านไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบ
และเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน เพราะเชื่อว่าระบบ PSC จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนให้สิทธิสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไว้
ซึ่งตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานจึงเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ตนเองมาแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปีโตรเลียม) เพื่อไม่ให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทาน
ตนจึงได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย และได้นำเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพ.ค.58
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้เสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. และทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 ส.ค.58 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อ สนช.ตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันเวลา
“สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่า ก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม
ซึ่งผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่า เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ ตนได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติ โดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้
และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ซึ่งตนได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเนื่องจากพ้นตำแหน่ง เมื่อวันที่ 19 ส.ค.58 ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช.ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกัน
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช.เพื่อพิจารณาออกเป็นกฏหมายต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระหนึ่งและ สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของ สนช. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ.
โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่างฯ ทั้งๆที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่า มีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง
และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ ซึ่งควรมีการทำอย่างเปิดเผย
“คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลย ที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เนื่องจากตนได้เห็นเนื้อหาในเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมีมาตราที่เพิ่มเติมใหม่คือ มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และพบข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
โดยระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน” ซึ่งกังวลว่ากรมพลังงานทหารอาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ทั้งหมดได้
“ผมไม่ได้พูดแทนบริษัทน้ำมัน ผมพูดแทนคนไทยว่าจะมียักษ์ตัวใหม่ขึ้นมา เพราะบรรษัทน้ำมันจะเป็นผู้ถือสิทธิ์ปิโตรเลียมทุกอย่าง ถ้าฝ่ายการเมืองซึ่งเริ่มแล้ว โดยกรมพลังงานทหารเข้าควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ เวลาทำอะไรไม่ชอบมาพากลใครจะแก้ปัญหาได้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศนั้น หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นเกรงว่าจะไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่น ประเทศเวเนซุเอล่า ที่ประสบปัญหาจากการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ
พร้อมชี้แจงว่า ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็เปรียบเสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอยู่แล้ว และดำเนินกิจการได้ดี หากมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้