“อ.มนูญ”ชี้บรรษัทน้ำมันนอร์เวย์ ประสบผลสำเร็จด้วยฝีมือเอกชน!

"อ.มนูญ" ชี้บรรษัทน้ำมัน "นอร์เวย์" ประสบผลสำเร็จด้วยฝีมือเอกชน! ไม่รับประกันปิโตรนาสสำเร็จจริง เหตุไม่มีใครตรวจสอบภายในได้ยกเว้นนายกฯ มาเลเซีย


อาจารย์มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติคือ ประเทศนอร์เวย์ เนื่องจากมีการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอกชน โดยรัฐบาลนอร์เวย์เข้าถือหุ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 40-50% และยังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นการบริหารงานในรูปแบบเอกชนไม่ใช่รูปแบบรัฐบาล

โดยรัฐบาลจะนำปิโตรเลี่ยมซึ่งเป็นส่วนแบ่งจากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปขาย แล้วจึงนำรายได้จากการขายนั้นมาจัดตั้งกองทุนขึ้นแต่กองทุนดังกล่าวไม่เหมือนกองทุนน้ำมันของประเทศไทย เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ รวมถึงลงทุนในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเบนซินประเทศนอร์เวย์มีราคาสูงคือ 60-70 บาทต่อลิตร และภาษีน้ำมันยังสูงอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าเป็นการบริหารงานที่คล้ายคลึงกับบริษัท ปทต. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งถือว่าเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีการบริหารงานโดยเอกชน ซึ่งมีรัฐบาลถือหุ้น 51% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่งถือหุ้น 15% และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน

ส่วนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติประเทศมาเลเซียหรือปิโตรนาส ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากว่าเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จนั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ เนื่องจากขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์ ทำให้ไม่มีหน่อยงานใดสามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานได้ ดังนั้น ปิโตรนาสจึงมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส เรื่องคอรัปชั่นอยู่ โดยเมื่อเร็วๆ สมาชิกผู้แทนราษฎรได้ออกมาเรียกร้องแก้กฎหมายให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของมาเลเซียสามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีของปิโตรนาสได้ เนื่องจากบุคคลเดียวที่สามารถตรวจสอบภายในของปิโตรนาสได้คือนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้มีประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการบริหารจัดการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ประเทศเวเลซุเอลาที่ยึดสัมปทานผู้ประกอบการต่างชาติมาเป็นของรัฐบาลและให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการ และด้วยความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร ส่งผลให้การผลิตน้ำมันลดลงเรื่อยๆ และการกลั่นน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศเนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินของประเทศเวเนซุเอลาถูกที่สุดในโลก คือ ราคาไม่ถึง 1 บาทต่อลิตร รัฐบาลจึงต้องนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐอเมริกาแทน ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีสำรองน้ำมันมากที่สุดในโลกและเป็นประเทศส่งออกน้ำมัน จึงแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั่นเอง

สำหรับร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับแก้ไข ซึ่งจะเสนอให้สนช.พิจารณาในวันที่ 30 มี.ค.60 มีการเสนอให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติกลับมาดำเนินงานโดยรัฐบาล และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นประมาณ 30 คน ประกอบด้วย คนจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ประมาณ 14 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกจากการสรรหาประมาณ 5 คน ซึ่งสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่มีคนจาก NGO รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีคนที่ไม่ได้มาจากภาครัฐถึง 19 คน

Back to top button