“ทวิช” ชี้ไม่เข้าร่วมประชุมฉุกเฉิน เพราะไม่อยากเป็นเครื่องมือให้ใคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ นายแพทย์วิชัย …
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ได้มีหนังสือเรียนเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท (ฉุกเฉิน) ครั้งที่ 1/2560 ในวันที่ 29 มีนาคม 2560 เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่
ล่าสุด นายทวิช เตชะนาวากุล ในฐานะกรรมการ เปิดเผยว่า ตนจะไม่เข้าร่วมการประชุมกรรมการบริษัทตามเวลาที่กำหนดเนื่องจากมองว่าการดำเนินการจัดการประชุมฉุกเฉินดังกล่าว เป็นการประชุมที่ไม่ชอบและไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะดำเนินการและจัดการประชุมดังกล่าวได้
“การเรียกประชุมของท่านโดยอ้างเหตุฉุกเฉินตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านไม่สามารถที่จะอ้างเหตุตามกฎหมายดังกล่าวได้ กรณีจะเรียกประชุมฉุกเฉินได้ต้องเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น มิใช่เป็นการเรียกประชุมฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาหรือให้การรับรองการกระทำอันเป็นความผิดต่อกฎหมายของประธานกรรมการ ดังรายระเอียดที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวในประเด็นต่อไปทั้งเมื่อพิจารณาวาระประชุมที่ท่านกำหนดในหนังสือเชิญประชุมแล้วก็มิได้เป็นวาระที่เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือมีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด การเรียกประชุมในกรณีนี้จึงไม่ใช่การเรียกประชุมฉุกเฉินโดยกฎหมาย” นายทวิช กล่าว
นอกจากนี้นายทวิช ระบุว่า การเรียกประชุมดังกล่าวไม่ปรากฏมีเอกสารประกอบการประชุม ไม่มีข้อมูลที่กรรมการจะสามารถใช้ศึกษาล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วมพิจารณาอนุมัติตามวาระที่ท่านแจ้งมาได้ปกติ ซึ่งบริษัทจะต้องส่งให้กรรมการล่วงหน้าต้องไม่น้อยกว่า 7 วันทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินตามวาระที่ 2 เป็นหนี้อะไรหรือหนี้ส่วนใดก็ไม่ปรากฏรายละเอียด หากเป็นหนี้ที่ได้ไปดำเนินการในระหว่างที่บริษัทมีจำนวนกรรมการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งไม่ครบองค์ประชุมย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนจึงไม่สามารถร่วมพิจารณาแก้ไขด้วยได้
ทั้งนี้ตามวาระการประชุมวาระที่ 1 ที่แจ้งมาในการประชุมฉุกเฉินว่า พิจารณาอนุมัติกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 และกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น วาระนี้ได้มีการประชุมร่วมกับกรรมการเสียงข้างน้อยรวม 4 ท่าน โดยไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งได้พิจารณาไปแล้วเป็นวาระที่ 6 ในคราวประชุมกรรมการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 อันเป็นการประชุมโดยไม่ชอบ อีกทั้งยังได้ทำหนังสือรายงานไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามหนังสือของท่านที่อ้างถึง ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2560 ซึ่งกรณีดังกล่าว ตนและกรรมการเสียงข้างมากรวม 5 ท่านได้ทำหนังสือคัดค้านการประชุมและมติของที่ประชุมกรรมการในครั้งดังกล่าวและสำเนาแจ้งต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึงว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมและการลงมติทั้งหมดตามวาระการประชุม เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจงใจฝ่าฝืนหน้าที่ของประธานกรรมการ และหรือหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น การรายงานโดยแจ้งมติการประชุมของท่านเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานอีกด้วย
โดยขณะนี้นายแพทย์วิชัยก็ยังยืนยันถึงการประชุมดังกล่าวว่าเป็นไปโดยชอบ ทั้งที่ตนและกรรมการได้ยืนยันคัดค้านโดยชอบด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ท้วงติงและแจ้งให้ทราบถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการจัดการประชุม แต่นายแพทย์วิชัยก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด และหากตนได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ อาจมีผลเท่ากับเป็นการรับรองหรือร่วมกระทำผิดกับท่านโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผิดต่อหน้าที่และความรับผิดชอบที่ดีของกรรมการ
อย่างไรก็ตามนายทวิชยังมีการยืนยันว่าตนเองและกรรมการอื่น 4 ท่าน ยินดีให้ความร่วมมือในการประชุมกรรมการบริษัท หรือร่วมดำเนินการบริหารกิจการของบริษัทให้ประสบผลสำเร็จและเป็นไปด้วยดี เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกคน แต่การดำเนินการบริหารกิจการบริษัทจะต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท โดยถือประโยชน์ที่แท้จริงของบริษัทเป็นสำคัญ
โดยกรรมการบริษัทต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบด้วยความระมัดระวัง และความสื่อสัตย์สุจริตตามหลักการบริหารจัดการ หรือธรรมาภิบาลที่ดีตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งหากนายแพทย์วิชัยมีเจตนาและมีความประสงค์ให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวแล้ว ตนก็ยินดีและให้ความร่วมมือ หากนายแพทย์วิชัยประสงค์จะให้มีการประชุมและดำเนินการใดๆ เพื่อให้กิจการของบริษัทได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องแสดงความรับผิดชอบและหยุดดำเนินการใดๆที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท มิเช่นนั้นแล้วตนก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อรักษาสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการ