เป้าหมาย 1,600 จุด
คงไม่ใช่ความเข้าใจผิดและไม่ใช่แค่การใช้แค่สามัญสำนึกว่า ปีนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศไทยเสื่อมทรามลง เมื่อผ่านไตรมาสแรกมาเรียบร้อยแล้ว และได้รับการคาดหมายว่า ในไตรมาสสองและสามจะเข้าสู่วงจรขาลงของกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนระดับรากหญ้าหรือฐานราก (สุดแท้แต่จะเรียก) ที่จะทำให้รัฐต้องงัดมาตรการ "ช้อปช่วยห้าง" มาอีกหลายครั้ง
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
คงไม่ใช่ความเข้าใจผิดและไม่ใช่แค่การใช้แค่สามัญสำนึกว่า ปีนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศไทยเสื่อมทรามลง เมื่อผ่านไตรมาสแรกมาเรียบร้อยแล้ว และได้รับการคาดหมายว่า ในไตรมาสสองและสามจะเข้าสู่วงจรขาลงของกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนระดับรากหญ้าหรือฐานราก (สุดแท้แต่จะเรียก) ที่จะทำให้รัฐต้องงัดมาตรการ “ช้อปช่วยห้าง” มาอีกหลายครั้ง
ภาพสะท้อนและสัญญาณที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำต่อไปหรือทรงตัว คือการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคม 2017
มติดังกล่าวเกิดจากการประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวดีกว่าการประเมินครั้งก่อน แต่ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดสารพัดที่ถ่วงรั้งเอาไว้ ทำให้แรงกดดันของเงินเฟ้อลดลงจนไม่มีนัยสำคัญ
คำว่า “แรงกดดันที่ลดลงของเงินเฟ้อ” ฟังเผินๆ แล้วดูดี เพราะเท่ากับว่าความจำเป็นของแบงก์ชาติที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ลดความจำเป็น สามารถรอได้
การประเมินของ กนง.ทำให้ข้อสรุปของสถาบันวิจัยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศออกมาสูตรเดียวกันคือ เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยปีนี้จะทรงตัว ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีเลย เพราะพื้นฐานทางธรรมชาติของเศรษฐกิจทุนนิยมคือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พ่วงไปกับการก่อหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค หรือหนี้เพื่อการลงทุนใหม่ทางธุรกิจ
การที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัว หมายความว่า อัตราเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ในแดนต่ำกว่า เพราะเหตุปัจจัยจากการลงทุน (รวมการบริโภค) ต่ำกว่าการเติบโตของเงินออม
เงินออมที่มากกว่าการลงทุน คืออุปสรรคของการเติบโต เพราะนำไปสู่การจ้างงานที่ลดลง และตามมาด้วยกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ท้ายสุดจะสะท้อนมาที่จีดีพีที่เติบโตต่ำ
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศใดที่เป็นไปตามสูตร “เสถียรภาพนำหน้าการเติบโต” แม้จะมีข้อดีคือ ไม่เกิดความแปรปรวนที่รุนแรงจากความผันผวนของเงินเฟ้อ แต่จะเกิดแนวโน้ม นำไปสู่การถดถอยของความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจชาติใดอยู่ในสภาวะ “เติบโตมากกว่าเสถียรภาพ” จะมีความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้และเงินเฟ้อ ผสมกันเรียกว่าภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจ
ในทางปฏิบัติ สภาวะสุดขั้วทั้งสองทาง สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากเครื่องมือกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็เป็นที่ยอมรับไปทั่วทุกยุคสมัยว่าการมีเงินเฟ้อที่ไม่เลวร้ายเกินไป คือไม่เกินระดับ 7% ต่อปี และมีอัตราเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี หรือ จีเอ็นพี) ต่ำกว่าเงินเฟ้อเสมอ
การรักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงกว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะการที่อัตราเศรษกิจจะเติบโตได้ สินเชื่อหรือหนี้ของสถาบันการเงินจะต้องเติบโตมากกว่าจีดีพีเสมอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเร่งให้การควบคุมเงินเฟ้อเป็นความจำเป็นหรือ “ภาคบังคับ” โดยผ่านหลายมาตรการ
โดยทั่วไปทางทฤษฎี วิธีป้องกันเงินเฟ้อที่ดีสุดคือ การทำให้ต้นทุนก่อหนี้ของลูกหนี้สูงขึ้น ดังนั้น 1) การขึ้นดอกเบี้ย ผสมกับ 2) การควบคุมคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งในเรื่องเงินกองทุน และปริมาณ/สัดส่วนเข้มงวด ป้องกันสินเชื่อมากเกินขนาด (debt overhanging) 3) การควบคุมการปล่อยหนี้เพื่อบริโภคของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ป้องกันนวัตกรรมก่อหนี้ของสถาบันการเงินในและนอกระบบ (debt creation)
คำอธิบายที่ง่ายสุดและเป็นสูตรสำเร็จคือ มูลค่าหมุนเวียนในตลาดของหนี้มากเท่าใด จะยิ่งทำให้เสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจถดถอยเพียงนั้น
โดยทั่วไป สินเชื่อธนาคาร จะเติบโตกว่าจีดีพี (nominal GDP) เสมอในอัตรา 2 เท่า (หรือ GDP บวก 4%) เสมอ ถึงขั้นเป็นสูตรสำเร็จของบรรดานายธนาคารพาณิชย์ว่า จะตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อแต่ละปีบนฐานของจีดีพีเป็นสูตรว่า X+ 4-5% (X = จีดีพี)
ปัญหาที่ก่อขึ้นโดยธนาคารพาณิชย์ร่วมสมัย คือ มันไม่ได้มีบทบาทแค่เป็น “ตัวกลาง” ที่หากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยของผู้ออม กับดอกเบี้ยของลูกหนี้สินเชื่อ แต่ยังมีบทบาทหลากหลาย เช่น 1) ขยายบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดสรรทรัพยากรทางด้านทุนผ่านกระบวนการสร้างหนี้ใหม่ เพิ่มปริมาณเงิน และกระตุ้นกำลังซื้อของตลาดจำนวนมหึมา 2) เงินกู้ส่วนใหญ่ของธนาคาร ไม่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจในภาคเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า แต่มุ่งไปที่ธุรกิจที่มีกำไรมากสุดในปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว
ความไม่สอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายทำกำไรของธนาคาร กับเป้าหมายของเศรษฐกิจโดยรวม จึงเป็นรากเหง้าของเหตุที่สินเชื่อธนาคารสร้างภาวะไร้เสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ
แล้วทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ทางเลือกของการรับมือคือ Deleveraging เพื่อแก้ความบกพร่อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การตัดการลงทุน (จ้างงาน) และการบริโภคมวลรวม ที่ส่งผลต่อการเติบโตและการฟื้นตัวในระยะต่อไป
เมื่อโลกย่างเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ทุนที่ไหลข้ามพรมแดนได้สะดวก ทำให้การขยายตัวขนาดใหญ่มากของตลาดสินเชื่อข้ามชาติ เพิ่มความซับซ้อนมากเกินกว่าที่ธนาคารกลางชาติใดชาติหนึ่งจะกำกับดูแลได้ เพราะมีการสั่งสมปัญหาใหญ่หลวงและซับซ้อนเกินคาดหมาย
ในบางกรณี ความพยายามสร้างเสถียรภาพเกินจำเป็น เป็นปัจจัยที่ตอบคำถามได้ว่าเหตุใดการเติบโตจึงชะงักงันยาวนานหลังวิกฤต เพราะว่าความมั่งคั่งถูกชะลอตัวลง ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และคุณภาพชีวิตเลวร้ายมากขึ้น
ปัจจุบัน ตัวเลขความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศไทย ถือว่าสูงสุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% มีรายได้ครัวเรือนเกินครึ่ง ดัชนีจีนีของรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 0.51 ครอบครัวรายได้น้อยและยากจนกระจุกอยู่ในภาคเกษตรกรรมอย่างมาก
ปรากฏการณ์ของรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐด้วยระบบราชการ โดยมีแกนหลักคือนายทหารในกองทัพ ใช้มุมมองเน้นสร้างเสถียรภาพ มองเห็นการเติบโตคือความเสี่ยงเกินเลย มักหลงผิดว่า
- การสร้างเสถียรภาพมากเกินขนาด จะเป็นตัวเร่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เพราะชนชั้น “อภิมหารวย” มีแนวโน้มลงทุนผลิตซ้ำน้อยลง ทำให้อุปสงค์มวลรวมถดถอย ในขณะที่คนชั้นกลางกลายเป็นคนจน และคนจนเป็นชนชั้นไร้ทรัพย์
- มาตรการเร่งการเติบโตที่อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น มีจุดเด่นที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ ทำให้การก่อหนี้โดยคนชั้นกลางและล่างเพิ่มสูงขึ้นกว่าจีดีพี ในอัตราเร่ง ผ่านการกระตุ้นบางอย่าง
ดังนั้น รัฐใดที่ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพมากกว่าการเติบโต มาตรการต่อต้านการเติบโตจะถูกนำมาใช้ในนามของ “ความปรารถนาดีที่หลงทาง” ที่มักลงเอยด้วยหายนะมากกว่าความมั่งคั่งรุ่งเรือง
สัญญาณร้ายดังกล่าว กำลังส่องสว่างมากขึ้นเรื่อยในเศรษฐกิจไทยยามนี้ รวมถึงขาขึ้นของตลาดหุ้นไทยปีนี้ หากปราศจากแรงหนุนของฟันด์โฟลว์ ที่มีโอกาสทำให้ 1,600 จุดอันเป็นเป้าหมายสำคัญ เข้าข่ายภาษิตฝรั่งว่า “a bridge too far” (เรือล่มเมื่อถึงท่า) เป็นหมุดหมายสำคัญ