สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 เม.ย.60
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลง เมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) หลังจากมีรายงานว่า ภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงในเดือนมี.ค. ขณะที่ยอดขายรถยนต์เดือนมี.ค.ของสหรัฐปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่บริษัทจดทะเบียนรายใหญ่จะทยอยเปิดเผยผลประกอบการ และก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 20,650.21 จุด ลดลง 13.01 จุด หรือ -0.06% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,358.84 จุด ลดลง 3.88 จุด หรือ -0.16% ส่วนดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,894.68 จุด ลดลง 17.06 จุด หรือ -0.29%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ เมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) โดยนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อจับตาว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายของ ECB จะส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงทิศทางด้านนโยบายหรือไม่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.5% ปิดที่ 379.29 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,257.20 จุด ลดลง 55.67 จุด หรือ -0.45% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,085.91 จุด ลดลง 36.60 จุด หรือ -0.71% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,282.69 จุด ลดลง 40.23 จุด หรือ -0.55%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดในแดนลบ เมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) ด้วยแรงกดดันจากข้อมูลดัชนีภาคการผลิตของอังกฤษที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ดัชนี FTSE 100 ลดลง 40.23 จุด หรือ -0.55% ปิดที่ 7,282.69 จุด
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบ เมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) หลังจากมีรายงานว่า ลิเบียเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้ง หลังจากที่ประสบภาวะชะงักงันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 36 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 50.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 41 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 53.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวก เมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสัญญาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคการผลิตสหรัฐ และยอดขายรถยนต์ของสหรัฐที่ร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.8 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ระดับ 1,254 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค.ลดลง 4.4 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 18.212 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 5.8 ดอลลาร์ หรือ 0.61% ปิดที่ 958.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 4.40 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 802.55 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆเกือบทั้งหมด ในการซื้อชายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) ด้วยแรงหนุนจากข้อมูลดัชนีภาคการผลิตของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 1.0668 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0685 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2478 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2539 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลีย อ่อนค่าลงที่ระดับ 0.7603 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7645 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 110.93 เยน จากระดับ 111.28 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0018 ฟรังก์สวิส จากระดับ 1.0008 ฟรังก์สวิส