16 เดือนมีเลือกตั้ง?
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง “เมื่อไหร่เลือกตั้งๆๆ” เปล่ …
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
“เมื่อไหร่เลือกตั้งๆๆ” เปล่า ไม่ใช่ผมถาม แต่เชื่อแน่ว่าหลังพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะมีเสียงเรียกร้อง “เมื่อไหร่เลือกตั้งๆๆ” ทั้งจากพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ ชาวบ้านทั่วไป และนานาชาติที่ต้องการกลับมามีความสัมพันธ์เป็นปกติ
รัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนไปสู่เลือกตั้งว่า กรธ.ต้องร่าง พ.ร.บ.ประกอบฯ 10 ฉบับให้เสร็จใน 240 วัน สนช.พิจารณาภายใน 60 วัน และหลังจาก พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งเป็น 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้แล้ว ให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน
รวมแล้วใช้เวลา 480 วันเพราะยังมีขั้นตอนส่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ทั้งอาจต้องตั้งกรรมาธิการหากเห็นแย้งกัน ทั้งยังมีโอกาสที่ร่าง พ.ร.บ.จะตกไป ซึ่งก็ยังไม่มีใครบอกว่าจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ในการร่างใหม่
ว่าตามเนื้อผ้า ช่วงเวลา 240 วันสามารถหดได้ เพราะนับจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ มาถึงบัดนี้ก็ 8 เดือนเข้าไปแล้ว กรธ.ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนทุกวัน สามารถร่าง พ.ร.บ.ประกอบฯ ไปพลางๆ ระหว่างรอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพระราชอำนาจ
แต่มีชัย ฤชุพันธุ์ กลับบอกว่าจะส่งร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ กกต.เข้า สนช.ก่อน เมื่อผ่านแล้ว อีก 180 วันจึงจะส่งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยอ้างว่าต้องให้เวลาพรรคการเมืองปรับตัว และให้สรรหา กกต.เพิ่มจาก 5 เป็น 7 คน ซึ่งแปลว่าช่วงเวลา 240 วันจะไม่หดสั้นลงแม้แต่น้อย
นั่นทั้งๆ ที่ก่อนทำประชามติ พวกท่านบอกประชาชนว่า ไม่ต้องใช้เวลาเต็ม 240 วันเพราะเอาแค่กฎหมายลูก 4 ฉบับผ่านก็จะได้เลือกตั้งใน 150 วัน
ก็ไม่เป็นไร เอาที่สบายใจแล้วกัน ถ้าเชื่อว่าจะทานแรงกดดันทางการเมืองเศรษฐกิจสังคมได้
เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยังจะเกิดภาวะที่อำนาจ คสช. ม.44 ยังอยู่ตามบทเฉพาะกาล แม้มีรัฐธรรมนูญที่อ้างกันว่าเป็น “ระบอบการปกครองด้วยกฎหมาย” แต่บทบัญญัติต่างๆ โดยเฉพาะหมวดสิทธิเสรีภาพ หมวดตรวจสอบอำนาจ ยังใช้ไม่ได้ เพราะอำนาจรัฐประหารยังอยู่ครบ ตามมาตรา 265 วรรคสอง ซึ่งมีมาตรา 279 รับรองไว้ล่วงหน้าว่า ใช้อำนาจอย่างไรก็ชอบด้วยกฎหมาย นิรโทษไว้ล่วงหน้าจนกว่า คสช.จะพ้นอำนาจเมื่อมีรัฐบาลใหม่
ภาวะเช่นนี้ บางคนบอกไม่มีปัญหาหรอก ก็อยู่กันเหมือนที่อยู่ใต้ คสช.ม.44 มาเกือบ 3 ปี อ้าว! งั้นรัฐธรรมนูญจะไม่มีความหมายเลยหรือ ต้องมีสิ มีชัยยังบอกเลยว่าการพิจารณากฎหมายใน สนช.ต่อไปนี้ต้องอยู่ใต้บังคับ ม.77 วรรคสอง คือต้องศึกษาผลกระทบ รับฟังผู้เกี่ยวข้อง เชื่อเถอะ เดี๋ยวก็มีคนหยิบบทบัญญัติต่างๆ ขึ้นมาร้องว่า ต้องบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญสิ อุตส่าห์ผ่านประชามติมาแล้ว จะเอาแต่ออก ม.44 อยู่เรื่อยได้ไง
พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะเปลี่ยนสถานการณ์ไปอยู่ในอีกขั้นหนึ่ง แม้ผู้มีอำนาจจะบอกว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมๆๆ โรดแมปยังอีกตั้ง 16 เดือน ม.44 ก็ยังอยู่
แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็จะเซ็งแซ่ขึ้นมาอย่างห้ามไม่ได้ คำถาม “เมื่อไหร่เลือกตั้งๆๆ” จะเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาล โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารงานว่าสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนหรือไม่
ถ้าชาวบ้านพอใจ ยื้อเลือกตั้งออกไปเกิน 16 เดือน ก็ทำได้สบายๆ แต่ถ้าชาวบ้านเริ่มเบื่อหน่าย เข้าสู่ “ขาลง” มีแต่เรื่องให้บ่น (แล้วยังจะซื้อเรือดำน้ำ) ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งสั่งสมความอึดอัดซึ่งอาจทำให้สถานการณ์หวนกลับช่วงเลือกตั้ง