“อ.มนูญ”ชี้สรุปประมูลปิโตรฯปีนี้ มองรายเดิมมีโอกาสชนะมากกว่า
“อ.มนูญ” ชี้ PTTEP-เซฟรอน ได้เปรียบประมูลปิโตรเลียม หวั่นรายใหม่เข้ามาอาจส่งผลเสียต่อศก.
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของประเทศไทย เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าเตรียมการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2565-2566 ว่า การประมูลสัมปทานแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุ คาดจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนก.ค. 2560
รวมทั้งจะสามารถสรุปการประมูลผู้ชนะของทั้ง 2 แหล่ง ได้ในเดือนธ.ค. 2560 ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า 5 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม และตามสัญญาสัมปทานหากว่าผู้ที่ชนะการประมูลนั้นไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิม ผู้ประกอบการรายเดิมจะต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับทางภาครัฐ และทางภาครัฐจะเป็นผู้คัดเลือกว่า ทรัพย์สินใดสามารถใช้งานได้จึงจะส่งมอบให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้สัมปทานต่อไป จากนั้นจะต้องมีการเจรจาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตก๊าซ
โดยการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้นต้องมีความต่อเนื่องมากที่สุด หากผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถผลิตก๊าซได้หรือผลิตได้น้อยลง จะส่งผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซส่งให้กับการไฟฟ้าส่วนผลิตมากที่สุด ต่อมาคือโรงงานอุตสาหกรรม และกระทบต่อทางด้านปิโตรเคมีอีกด้วย
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะชนะการประมูลนั้นเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ แต่ผู้ประกอบการรายเดิมจะได้เปรียบในเรื่องของการมีข้อมูลเดิมอยู่ในมือ มีความมั่นใจในแง่ของการเสนอผลตอบแทนให้กับทางภาครัฐได้ดีกว่า” นายมนูญกล่าว
อนึ่ง ผู้ประกอบการรายเดิมสำหรับแหล่งก๊าซสัมปทานบงกช ก็คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 และ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิมสำหรับแหล่งก๊าซสัมปทานเอราวัณ และจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565
ทั้งนี้ วันที่ 5 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า พื้นที่แปลงสัมปทานปิโตรเลียมแต่ละพื้นที่น้ัน เหมาะที่จะใช้ระบบประมูลแบบใด โดยระบบสัมปทาน เหมาะกับระบบที่ไม่มั่นใจว่าปิโตรเลียมมีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นแหล่งที่ทางเราไม่ได้สำรวจ โดยผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ รัฐจะให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ต้องให้ผลประโยชน์กับทางภาครัฐเป็นการตอบแทนด้วย
ขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิต เหมาะกับแหล่งสัมปทานที่มีความมั่นใจว่ามีแน่นอน แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ รัฐจะนำไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ และระบบรับจ้างผลิต เหมาะกับแหล่งที่มั่นใจว่ามีปิโตรเลียมแน่นอนและมีในปริมาณที่มาก และแน่นอนว่าผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ รัฐย่อมเป็นเจ้าของปิโตรเลียมโดยตรง
“ดังนั้น ระบบที่เหมาะจะใช้ได้คือ ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งระบบแบ่งปันผลผลิตเหมาะเนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยเป็นแหล่งที่มั่นใจว่ามีและสำรองพอใช้หลายปีจึงเหมาะสมที่สุด ส่วนระบบรับจ้างผลิตใช้ได้น้อยเนื่องจากในบ้านเรามีแหล่งแหล่งปิโตรเลียมกระจายออกไปและเป็นแหล่งเล็กๆ ไม่ได้เป็นแหล่งขนาดใหญ่” นายมนูญกล่าว