FSMART ปรับเป้ายอดเติมเงินปีนี้เป็น 3.2 หมื่นลบ.จำนวนตู้ 1.22 แสนตู้
FSMART ปรับเป้ายอดเติมเงินปีนี้เพิ่มเป็น 3.2 หมื่นลบ.- จำนวนตู้ 1.22 แสนตู้ หลังต้นปียอดพุ่งเร็วกว่าคาด
นายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยว่า บริษัททบทวนปรับเป้าหมายจำนวนตู้เติมเงินบุญเติมเพิ่มขึ้นเป็น 122,000 ตู้ จากเดิม 120,000 ตู้ เช่นเดียวกับยอดเติมเงินที่บริษัทปรับขึ้นเป็น 32,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มจากปีก่อน 32.5% และ 36.9% ตามลำดับ โดยการทบทวนเป้าหมายใหม่ดังกล่าว เนื่องจากบริษัทสามารถติดตั้งตู้เติมเงินได้ครบ 100,000 ตู้เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ แต่เป็นไปตามแผนขยายจำนวนตู้ให้ครอบคลุมมากที่สุด
ทั้งนี้ จำนวนตู้ที่เพิ่มขึ้นส่วนมากยังคงมาจากตัวแทนบริการในแต่ละจังหวัดที่มีศักยภาพในการขยายการติดตั้ง นอกจากนี้ บริษัทยังขยายตู้เติมเงินบุญเติมไปตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ อาทิ เซเว่น-อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน, เทสโก้โลตัส, เทสโก้โลตัส เอ็กซ์เพรส, บิ๊กซี , ท็อปส์, โฮมโปร, ซุปเปอร์เซฟ เป็นต้น รวมไปถึงการเจรจาเพื่อติดตั้งตู้ในอาคารและโครงการต่างๆ ที่สนใจ ในการช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้นด้วย
“เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทสามารถติดตั้งตู้เติมเงินได้ครบแสนตู้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ และเป็นความสำเร็จที่ช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านตู้เติมเงิน ภายใต้แบรนด์ “บุญเติม” ของ FSMART ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหล่าตัวแทนมุ่งมั่นช่วยผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตในทุกๆด้าน ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้ทบทวนเป้าหมายของจำนวนตู้เติมเงินเพิ่มเป็น 122,000 ตู้ และยอดเติมเงินที่ 32,000 ตู้ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่เพียงแต่ขยายจำนวนตู้ให้ครอบคลุมเท่านั้น แต่พยายามเน้นย้ำให้ตัวแทนบริการมีการติดตั้งตู้เติมเงินไปยังจุดคุณภาพที่จะช่วยส่งเสริมยอดเติมให้เติบโตไปพร้อมกันด้วย” นายสมชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทพยายามเพิ่มเติมบริการใหม่ๆหน้าตู้เติมเงินให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีประมาณ 60 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มธนาคารอีกหนึ่งธนาคารในบริการโอนเงินที่บุญเติมเป็นตัวแทนของธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรายการโอนเงินมีการเติบโตทะลุ 11,000 รายการต่อวัน จากยอดผู้ใช้บริการหน้าตู้ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามากกว่า 2.1ล้านรายการต่อวัน ส่งผลต่อสัดส่วนรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยยะ โดยสัดส่วนยอดเติมมือถือจะอยู่ประมาณ 88% ขณะที่บริการโอนเงินปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7% ส่วนอีก 5% เป็นรายการอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามโมเดลธุรกิจ Digital Retail Channel เพิ่มรายได้ 5 ช่องทาง และเป็นไปตามแผนการปรับสัดส่วนรายได้อื่นๆให้เติบโตขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจในระยะยาว