KTAM ทับไม่ร้อง ท้องจะให้รับ
กรณีของบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องการ "กินรวบ" ด้วยการใช้สิทธิของ "ผู้ถือหน่วยหลัก" เสนอซื้อทรัพย์สินทั้งหมดจาก 3 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กอง 1 ของ บลจ.กรุงไทย จำกัด หรือ KTAM ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์ (THIF) และ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเม้นต์ (TRIF) มูลค่ารวมทั้งหมด 7.9 หมื่นล้านบาท
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
กรณีของบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องการ “กินรวบ” ด้วยการใช้สิทธิของ “ผู้ถือหน่วยหลัก” เสนอซื้อทรัพย์สินทั้งหมดจาก 3 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กอง 1 ของ บลจ.กรุงไทย จำกัด หรือ KTAM ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์ (THIF) และ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเม้นต์ (TRIF) มูลค่ารวมทั้งหมด 7.9 หมื่นล้านบาท
ยังมีควันหลงคั่งค้างอยู่ซึ่งคนที่ถือหน่วยทั้งหลายในทั้งสามกองทุนที่ KTAM บริหารอยู่ ต้องทำการตัดสินใจภายในเดือนเมษายนนี้ให้ได้ว่าจะขายหรือไม่
ในเบื้องต้น ผู้บริหารของ KTAM ออกมาให้ข้อมูลนักลงทุนตามกติกา พร้อมกับเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้นักลงทุนอนุมัติการเสนอซื้อนี้ เพราะว่า เป็นการซื้อที่ “กดราคา”
ที่บอกว่า “กดราคา” เพราะแม้จะทำการเสนอซื้อทรัพย์สินที่ราคาสูงกว่า “ราคาประเมิน” แต่ก็ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่า “ราคาตลาด” อยู่ดี
เหตุผลของผู้บริหารของ KTAM ก็พอฟังขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีในวงการที่ดินและอสังหาริมทรัพย์นั้น ราคาประเมิน ไม่เคยสูงเท่ากับราคาตลาดกันเลย เพราะ…. ราคาประเมิน เขามีไว้อ้างอิงเพื่อเหตุผลทางภาษีเวลาที่มีการถ่ายโอนหรือทรัพย์สินเปลี่ยนมือเท่านั้น
ใครที่คิดขายที่ดินตามราคาประเมิน ถือว่า เสียค่าโง่… เต็มๆ
ส่วนคนที่คิดซื้อที่ดินที่ราคาประเมินหรือใกล้เคียง เขาเรียก…. ผู้ฉลาดซื้อ
คำถามคือ แม้ผู้บริหาร KTAM จะออกมาบอกไม่เห็นด้วย แต่ก็มีคำถามแทรกตามมาว่า … หมูจะหาม รอมร่อ….จะเอาคานไปสอดได้อย่างไร
คำตอบง่ายๆ คือ ผู้ถือหน่วยที่ชาญฉลาด จะต้องลงมติ หรือหาทางให้บรรดาผู้ถือหน่วยที่จะมีลงคะแนนโหวตอนุมัติหรือคัดค้านการซื้อขายตามวันนัด ทำให้การประชุมเกิดเหตุดังนี้คือ…. ให้มีคนเห็นชอบการขายทรัพย์สินให้กับบริษัทในเครือเสี่ยเจริญ ไม่เกิน 75% หรือ 3 ใน 4 ของผู้ถือหน่วยที่มาใช้สิทธิร่วมการประชุม ….ซึ่งหัก กลุ่มบริษัท แอสเสท เวิร์ด จำกัด ที่เป็นคนและเป็นบริษัทในกลุ่ม TCC Group อยู่แล้วออกไปเพราะเหตุมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
ดูตามเนื้อผ้าแล้ว โอกาสที่เสี่ยเจริญจะได้ทรัพย์สินจากกองทุนทั้ง 3 กองที่บริหารโดย KTAM ไม่ใช่ง่าย…. แต่ นั่นเป็นแค่การมโนโดยนิตินัย เพราะโดยพฤตินัยนั้น มันคนละเรื่องกัน
หากหักรายชื่อกลุ่มบริษัท แอสเสท เวิร์ด จำกัดที่เป็น “ผู้ถือหน่วยหลัก” ออกไป จะพบว่า นอมินีเสี่ยเจริญนั้นถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมทั้ง 3 กองของ KTAM รวมแล้ว เกือบหมดหรือเกิน 50% โดยพฤตินัย … ซึ่งเกินเงื่อนไขตามกฎหมายหรือกติกาของ ก.ล.ต. ที่ห้ามเกิน 33.33% มาตั้งแต่เริ่มต้น
แถมที่สำคัญก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูแลกฎกติกาทุกเดือนหรือทุกๆ 3 เดือน ก็ไม่เคยทักท้วงอะไรเลยว่าผิดเงื่อนไขหรือผิดกฎหมาย
การถือหุ้นโดยเปิดเผย (ผ่านบริษัทอย่าง ยอดยิ่งอินเตอร์เทรด จำกัด หรือ อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด หรือ ปณชัยพาณิชยการ จำกัด หรือ ฐานถาวร (2012) จำกัด) ตามตารางที่ยกมาประกอบ ยังไม่นับรวมรายชื่ออื่นๆ ที่ถือซ่อนเร้นหรืออำพรางใต้บริษัทนอมินีทั้งหลาย ชื่อแปลกๆ อีกเยอะแยะ
คำถามจากสามัญสำนึกเบื้องต้นคือ ก.ล.ต. ส่งเสริมพฤติกรรมอำพรางของเศรษฐีใหญ่อย่างนี้โดยเจตนา หรือเผอเรอหรืออย่างไร
คำตอบชัดเจนจากตัวแทน ก.ล.ต. คือเรื่องของเสี่ยเจริญกับ กองทุนทั้ง 3 ของ KTAM นั้น เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ… หาความผิดไม่มีวันเจอ
เหตุผลคือ หลักเกณฑ์เรื่องนี้กำหนดให้กองฯ ห้ามจัดสรรให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันได้เกิน 1/3 ของหน่วยที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดก็จริง แต่ตามประกาศ สนง ก.ล.ต. ที่ สน. 25/2552 ข้อ 14 ระบุไว้ชัดว่า กรณีบุคคลที่นับเป็นกลุ่ม หรือ acting in concert นั้น สาระสำคัญหลักคือนับรวมบิดามารดา คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ยังมีข้อความอื่นๆ พ่วงเสริมมาด้วย
ข้อความที่ว่าคือ “…. “กลุ่มบุคคลเดียวกัน” หมายความว่า บุคคลที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้
(1) คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) นิติบุคคล และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
(3) กองทุนส่วนบุคคลของบุคคลตาม (1) หรือ (2) ที่ไม่ใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ….”
เงื่อนไขที่ว่า จึงหมายความชัดเจนยิ่งว่า บริษัทในเครือเสี่ยเจริญทั้งหลายที่ถือหน่วยลงทุนทั้ง 3 กองของ KTAM ไม่เข้าข่าย บุคคลหรือนิติบุคคลกลุ่มเดียวกันตามกฎหมายแต่อย่างใด
ถึงตรงนี้ ใครที่ถึงบางอ้อแล้ว….กรุณาลืมบางพลัดไปได้เลย
หายโง่ไปอักโขภิณีเลยเจ้าค่ะ
ฝ่ายกฎหมายของเสี่ยเจริญทุกคนที่จ้างมา ทำงานเกินคุ้มค่าจ้างทุกคน… ไม่ชมตอนนี้ แล้วจะไปชมตอนไหน??
ดังนั้น เมื่อมาถึงบางอ้อ…. ก็คงจะเข้าใจว่า เกมในการจัดประชุมโดย KTAM ที่จะมีขึ้นนั้น ผลลัพธ์จะลงเอยอย่างไร
หากเสียงสนับสนุนให้ขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าตลาด น้อยกว่า 75% หรือ การประชุมที่นัดพบขึ้นมา เกิดล้มเหลวขึ้น….นี่สิแปลก
ถ้าเป็นเช่นนั้น… ซึ่งความเป็นไปได้อาจใกล้เคียงกับ 0.0001% …. อาจจะต้องให้เสี่ยเจริญจุดธูป 8 ดอกถามไถ่ เง็กเซียนฮ่องเต้… กันเลยทีเดียวว่า ” เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง”
อิ อิ อิ