พาราสาวะถีอรชุน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของฝ่ายความมั่นคงที่ปักใจเชื่อว่า เหตุระเบิดบริเวณลาดจอดรถชั้นใต้ดินของห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นปมการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีประเด็นความขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นข้อสงสัยประการแรก ไม่แยแสต่อข้อสงสัยที่ว่าเป็นการลงมือของกลุ่มก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของฝ่ายความมั่นคงที่ปักใจเชื่อว่า เหตุระเบิดบริเวณลาดจอดรถชั้นใต้ดินของห้างเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นปมการสร้างสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีประเด็นความขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นข้อสงสัยประการแรก ไม่แยแสต่อข้อสงสัยที่ว่าเป็นการลงมือของกลุ่มก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ทั้งๆ ที่รถใช้ก่อเหตุสวมป้ายทะเบียนปลอมเป็นจังหวัดชลบุรี โดยแท้ที่จริงถูกปล้นมาจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา อันเป็นพื้นที่สีแดง แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่ให้น้ำหนักในเรื่องนี้ กลับชี้ไปที่ปมขัดแย้งธุรกิจกับเรื่องทางการเมืองเป็นด้านหลัก ซึ่งชวนให้สงสัยในเหตุผลที่ไม่ข้องแวะเชื่อมโยงกับเหตุป่วนใต้ เพราะกลัวจะเสียหาย เสียหน้ากันหรือเปล่า

แต่เมื่อให้น้ำหนักกันมากขนาดนี้ก็อยู่ที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งต้องทำงานร่วมกับทหาร จะต้องหาพยาน หลักฐานมายืนยันให้ได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากเรื่องใดกันแน่ ส่วนที่มีการจับกุมตัว “เอ็ม เสื้อแดง” ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คในทำนองว่าจะจัดหนักที่สุราษฎร์ธานี ในคืนวันเกิดเหตุ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ อย่างไร

ในขณะเดียวกันการออกมาให้ข่าวของ ถาวร เสนเนียม แกนนำม็อบกปปส.ที่เป็นผู้เปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร ในทำนองว่าเป็นฝีมือของคนที่อยู่ต่างประเทศ มีนัยยะใดแอบแฝงหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า สำหรับคนบางพวกที่พูดเรื่องโกหกจนกลายเป็นเรื่องจริงนั้น จะไม่แยแสหรือสนใจว่าใครจะได้รับความเสียหาย ยิ่งมีผู้มากบารมีหนุนหลังด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่

เห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้แล้ว น่าเป็นห่วงเหลือเกินว่าหลังสงกรานต์ไปแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นมาจนฉุดไม่อยู่ หรือเป็นเพราะว่ามีเจตนาที่จะทำให้เป็นเช่นนั้น เพื่อกลบกระแสข่าวด้านลบที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ นับวันมีแต่จะย่ำแย่ ขืนปล่อยไว้นานโดยที่ทิศทางทางการเมืองก็ดูแนวโน้มจะไม่เอาอ่าว จึงต้องหาตัวช่วยเล่นกันแรงๆ ดูสักตั้ง

การที่คนเป็นพระออกมาบอกว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของคนแดนไกลนั้น ทำเอา ทักษิณ ชินวัตร มีการทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ล่าสุด ตอบโต้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า  “เราหยุดมานานแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด ท่านบอกท่านบวชมา 9 เดือน อย่าบวชแต่กาย เพียงนุ่งผ้าเหลืองและโกนหัวเท่านั้น ควรเอาใจไปบวชด้วย เพราะท่านมุสาเป็นประจำ นึกว่านุ่งผ้าเหลืองแล้วจะเลิกมุสา เรารู้จักกันดีพอนะ”

ประสาไก่เห็นตีนงู คงไม่ต้องขยายความอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม อย่างที่รู้และเห็น คนที่บวชเป็นเพศบรรพชิต กิจที่ควรทำคือละเว้นจากเรื่องทางโลกทั้งปวง ไม่ใช่อ้างว่าห่วงนั่นห่วงนี่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นปมทางการเมืองว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์นับตั้งแต่ก่อม็อบล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น ถ้าอยากให้คนเชื่อว่าบวชเพื่อใฝ่ธรรมะจริง จะต้องไม่เกลือกกลั้วกับสิ่งเลวทรามต่ำช้าเหล่านี้

ย้อนกลับไปดูปมปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ล่าสุด พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เขียนบทความแสดงความกังวลว่า ปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะเผาจริง แน่นอนว่า เมื่อติดตามข้อมูลข่าวสารของตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาย่อมชวนให้เชื่อได้ว่า โอกาสที่จะเห็นการเจริญเติบโตของประเทศโงหัวขึ้นมานั้นมันริบหรี่เหลือเกิน

แต่ประสาคนที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ดีพอ ก็ต้องยกเอาความเห็นของผู้รู้เขามานำเสนอ อาจารย์พิชิตมองว่า ที่น่าสังเกตคือ แม้การลดลงของตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวจะเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จากวิกฤตการเมืองรอบใหม่เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ในปลายเดือนตุลาคม 2556 แล้วขยายตัวเป็นการประท้วงใหญ่และก่อจลาจลโดยกลุ่มกปปส.

แต่การตกต่ำลงของตัวเลขเศรษฐกิจกลับเห็นชัดเจนหนักหน่วงตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือ หลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐประหารและการปกครองโดยใช้คำสั่งคสช. กฎอัยการศึกและศาลทหาร แม้จะได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากที่เกลียดชังรัฐบาลเพื่อไทย แต่ไม่ได้เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนและนักธุรกิจทั่วไปซึ่งได้ชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนมาตั้งแต่ปลายปี 2556

หลังรัฐประหาร คนกลุ่มนี้กลับยิ่งไม่มั่นใจในอนาคตของระบอบรัฐประหารและไม่แน่ใจว่า จะได้กลับคืนสู่การเมืองในระบบรัฐสภาอีกเมื่อใด ทำให้พวกเขาชะลอการใช้จ่ายต่อไปอีกเรื่อยๆ จนเกิดเป็นวงจรย้อนกลับคือ การตัดลดการใช้จ่าย ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ ซึ่งมีผลสะท้อนกลับให้ต้องตัดลดการใช้จ่ายอีก เป็น “กับดักเศรษฐกิจซบเซา” ที่ยากจะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น

แม้ว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจจะยืนยันอย่างแข็งขันว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ในไตรมาสแรกจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 และตลอดทั้งปีจะเติบโตร้อยละ 4.5 โดยอ้างปัจจัยการฟื้นตัวจากการเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณและการเร่งลงทุนก่อสร้างในโครงการภาครัฐ แต่ปรากฏว่า ไตรมาสแรกของปี 2558 นอกจากจะไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวแล้ว ยังกลับมีแนวโน้มเลวลงอย่างต่อเนื่อง

ที่เป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกดังเช่นประเทศไทยก็คือ ในไตรมาสแรกของปี 2558 การส่งออกไทยลดลงร้อยละ 2.6 ในเดือนมกราคม ร้อยละ 6.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 3.0 ในเดือนมีนาคม ทำให้ไตรมาสแรก การส่งออกไทยโดยรวมลดลงร้อยละ 5.0 เป็นผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ร้อยละ 1.6

ที่น่าตกใจคือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งเป็นบวกที่ร้อยละ 1.89 ในปี 2557 กลับกลายเป็นติดลบ ร้อยละ 0.41 ในเดือนมกราคม ร้อยละ 0.52 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 0.57 ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรกแม้จะมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการลดลงของราคาน้ำมัน แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่ปี 2557 อาจจะเลวร้ายลงอีก

อาจถลำลึกเป็นภาวะเงินฝืดหรือ deflation ซึ่งจากประสบการณ์ในหลายประเทศ จะมาพร้อมกับระบบเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตหรือกระทั่งหดตัว กลายเป็นสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยืดเยื้อ ติดอยู่ในหลุมกับดักเงินฝืดที่หากตกลงไปแล้ว จะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาจากหลุมได้ ตรงนี้ต่างหากคือปัจจัยที่ผู้มีอำนาจหนักใจเป็นอย่างยิ่ง แม้จะสามารถสยบความขัดแย้งและแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้อย่างสนิทนิ่งก็ตาม

Back to top button