ศก.ขึ้น การเมืองลง?

ดุสิตโพลหวังดีชี้รัฐบาลลุงตู่น่าเป็นห่วง จำกัดสิทธิเสรีภาพมากไป อาจถูกต่อต้าน แนะให้รับฟังความเห็นประชาชนอย่างเปิดกว้าง ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

 

ดุสิตโพลหวังดีชี้รัฐบาลลุงตู่น่าเป็นห่วง จำกัดสิทธิเสรีภาพมากไป อาจถูกต่อต้าน แนะให้รับฟังความเห็นประชาชนอย่างเปิดกว้าง ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา

แต่ลุงตู่กังขา โพลตั้งคำถามอย่างไร บังคับให้คนตอบหรือเปล่า พูดได้ไงว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน แค่ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อยังรีบแก้ไขแต่ถ้าเป็นเรื่องรักษาความสงบ รัฐบาลก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย(อย่างที่ใช้กับศรีสุวรรณ จรรยา)

ฟังเหมือนพูดกันคนละทาง แต่เมื่อท่านไม่ต้องการให้ห่วง ก็อย่าเป็นห่วงเป็นใย เพียงแต่แปลกใจ ระยะนี้ทำไมมีคนห่วงรัฐบาลเยอะเหลือเกิน อย่าง พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปท.อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ก็เรียกร้องให้ปรับ ครม.เศรษฐกิจ พร้อมแก้ปัญหาทุจริต มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็แนะให้ปรับ ครม.เพราะปีครึ่งจากนี้เป็น “วิถีขาลง” ถ้าไม่ปรับกลยุทธ์ มีหวังกอดคอกันกลับกรมกองไม่เป็นท่า

นี่มธุรสวาจาทั้งนั้น ไม่ใช่ขาประจำอย่างเพื่อไทย แต่ลุงตู่ก็ยืนยันไม่จำเป็นต้องปรับ ครม. รัฐบาลมาถูกทาง ซ้ำยังทำงานหนัก จนต้องแจกโบนัสขึ้น 2 ขั้นให้ทหาร 721 คนที่มาปฏิบัติงาน คสช.

เศรษฐกิจแย่จริงหรือ ก็เห็นสื่อเศรษฐกิจพาดหัวใหญ่ “จีดีพีไตรมาสแรกพุ่ง” ถึงแม้แค่ 3.5% แต่ก็ดีนักหนาสำหรับประเทศไทย การส่งออก การบริโภคการลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขยายตัว แม้การลงทุนเอกชนลดลง 1.1% แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะดีขึ้น (ตามเคย) แต่เอ๊ะทำไมความรู้สึกชาวบ้านยังไม่ดีขึ้น ท่านเลขาสภาพัฒน์ก็ชี้ว่าเพราะเศรษฐกิจหนืดมานาน ให้รอครึ่งปีหลัง ความรู้สึกชาวบ้านจะดีขึ้น จะมีสตางค์ในกระเป๋ามากขึ้น ไม่ต้องบ่นอีกต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองบังคับให้คนจนจ่ายค่าสมาชิกปีละ 100 บาท

มี 3 คำถามครับ หนึ่ง เศรษฐกิจจะดีขึ้นแน่หรือ สอง ต่อให้ดี ความรู้สึกประชาชนจะดีขึ้นแน่หรือ สาม กว่าจะถึงวันนั้น ความรู้สึกต่อรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะทันไหมกับ “ขาลง” ที่มัลลิกาเตือน

ข้อแรกยังไม่แน่ เพราะเศรษฐกิจการเมืองโลกผันผวน แต่ก็น่าจะดีขึ้น ข้อสอง ที่ผ่านมาก็ว่าดีขึ้นๆ แต่คนจนกลับรู้สึกแย่ลงๆ เพราะประโยชน์โภชน์ผลตกกับคนระดับบนมากกว่า ข้อสาม ความรู้สึกคนแก้ยากนะครับ หลังจากรู้สึกแย่มาสามปีกว่า ถ้าไม่ใช่เห็นผลทันตา ดีขึ้นนิดนึงก็อาจจะยังบ่นมากกว่าชม

ข้อสำคัญต้องนับด้วยว่าจนกว่าจะถึงวันนั้น รัฐบาลจะเจอแรงกดดันอีกเท่าไหร่แรงกดดันโถมเข้าใส่ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีแต่คำถามเลือกตั้งเมื่อไหร่ๆๆ จะลด ม.44ไหม จะให้เสรีภาพบ้างไหม ฯลฯ แถมยังเกิดข้อขัดแย้งใหญ่ๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน บรรษัทน้ำมัน ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ที่รัฐบาลต้องใส่เกียร์ถอยหลัง

ถ้าประเมินว่าขาลงจริงก็โปรดระวัง ธรรมชาติการเมืองไทย ทุกรัฐบาลที่เข้าสู่ขาลงมักลงเร็ว ลงแรง ลงด้วยเรื่องที่ไม่คาดคิด ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น รัฐบาลชวน 1 เจอ สปก.4-01 รัฐบาลทักษิณเพิ่งชนะ 18 ล้านเสียงเจอ CTX และขายหุ้นชิน รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่คิดว่าเจอพิษน้ำมันปาล์ม มีแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ร่อแร่อยู่แล้วยังนิรโทษสุดซอย

เพียงแต่ทุกครั้งเป็นรัฐบาลจากเลือกตั้ง รัฐบาลทหารมาเร็วเคลมเร็วไปเร็ว หลังยุคสฤษดิ์ถนอมก็มีครั้งนี้ที่อยู่นาน ถ้าเข้าสู่ขาลง ก็ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร

Back to top button