“พริมา มารีน” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 625 ล้านหุ้น จ่อเทรด SET

"พริมา มารีน" ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือ การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการเรือยื่นไฟลิ่งขาย IPO 625 ล้านหุ้น จ่อเทรด SET หวังระดมทุนใช้ลงทุนขยายกองเรือ โดยมีบล.กสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 625 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 500 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม คือ Austin Asset Limited จะเสนอขายหุ้นออกมาจำนวน 125 ล้านหุ้น โดยมี บล.กสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดยวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อลงทุนในเรือลำใหม่และขยายกองเรือของธุรกิจเรือขนส่งฯ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU และธุรกิจเรือ Offshore รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ  ทั้งนี้ บริษัทฯมีความประสงค์ที่จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

อนึ่ง กล่มพริมา มารีน ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือ การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการเรือ (Ship Management) โดยธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ 1)  ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว 2)  ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Floating Storage Unit) 3)  ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support Vessel) และ 4)  ธุรกิจการบริหารจัดการเรือ (Ship Management)

โดยโครงการในอนาคตที่สำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มบริษัทมีแผนต่อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่มีอายุใกล้ปลดระวาง เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งทั้งจากการเพิ่มขนาดเรือและการเพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยวเรือ เพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในปี 60-61 มีแผนการลงทุนต่อเรือขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว ลำใหม่ ขนาดประมาณ 3,000-5,000 เดทเวทตัน จำนวนทั้งสิ้น 10 ลำ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2,660 ล้านบาท และ ณ วันที่ 31 มี.ค.60 กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 530 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าจากแผนการลงทุนนี้ประมาณ 550 ล้านลิตรต่อปี กลุ่มพริมา มารีน คาดว่าจะใช้เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 80% ของมูลค่าโครงการรวม และคาดว่าจะมีเรือขนส่งฯ ลำใหม่ให้บริการเพื่อทดแทนเรือลำเก่าในแต่ละปี ในปี 60 และปี 61 จำนวน 6 ลำ และ 4 ลำ ตามลำดับ

สำหรับแผนการขยายกองเรือ ซึ่งประกอบด้วยเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และ ปิโตรเคมีเหลว (เรือขนส่ง) เรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) และเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support Vessel) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณการขนส่ง เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการขนส่งสินค้าไปยังเส้นทางการเดินเรือใหม่ทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะในประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจสูง อาทิ เมียนมา เป็นต้น

ขณะที่ในช่วงปี 60-62 บริษัทมีแผนลงทุนในเรือขนส่งขนาดบรรทุกประมาณ 3,000-10,000 เดทเวทตัน ประมาณ 11 ลำ ประกอบด้วย การต่อเรือใหม่ 6 ลำ และการซื้อเรือมือสอง 5 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเรือขนส่งฯ ของเส้นทางเดินเรือในประเทศเป็นหลัก และแผนการลงทุนในเรือขนส่งขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือ ประมาณ 10 ลำ ประกอบด้วยเรือ MR 3 ลำ เรือ LR2 3 ลำ เรือ Aframax  3 ลำ และ เรือ VLCC 1 ลำ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งฯ ที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของเรือ FSU เป็นหลัก

สำหรับแผนขยายธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU โดยในปี 59 กลุ่มบริษัทได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท บงกช มารีน เซอร์วิส จำกัด (BONGKOT) ในสัดส่วน 70% ทั้งนี้ BONGKOT เข้าลงทุนในเรือ FSU ขนาด VLCC ในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2560 มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,050 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.60 กลุ่มบริษัทด้ลงทุนไปแล้วประมาณ 730 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาส 2/60

ส่วนแผนขยายธุรกิจเรือขนส่ง Offshore มีแผนลงทุนในเรือ FSO ในปี 61 ขนาด Aframax ประมาณ 2 ลำ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1,090 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจการปฏิบัติงานการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบกลางทะเลของกลุ่มบริษัทขุดเจาะและสำรวจน้ำมันดิบในทะเลในน่านน้ำของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทมีแผนพิจารณาลงทุนในเรือ Offshore ระหว่างปี 61-62 อาทิ เช่น เรือสนับสนุนการใช้สมอและลากจูงโครงสร้างในทะเล (Anchor Handling Tugs)  เรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Accommodation Work Barge) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบกลางทะเลที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มบริษัทขุดเจาะและสำรวจน้ำมันดิบในทะเลในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ คาดว่าจะใช้เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินประมาณ 80% ของมูลค่าโครงการรวม

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 59 มีสินทรัพย์รวม 8,382.7 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,723.1 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 2,656.6 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 4,926.5 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 3,892.4 ล้านบาทในปี 58 ประกอบด้วยรายได้จากเรือขนส่ง 34.2% รายได้จากเรือ FSU สัดส่วน 47.1% รายได้จากเรือ Offshore 12.2% และรายได้จากบริการเรือ 6.5% ส่วนกำไรสุทธิ 1,202.2 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 831.2 ล้านบาทในปี 58 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 38.26% จาก 36.40% อัตรากำไรสุทธิ 27.98% จาก 21.35%

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท และมีทุนชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นจำนวนหุ้นสามัญ 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท  ภายหลังการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้นแล้ว บริษัทฯ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นจำนวนหุ้นสามัญ 2,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

ขณะที่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ บริษัท นทลิน จำกัด ถือหุ้น 1,399,999,800 หุ้นคิดเป็น 70% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 56% รองลงมาเป็น Austin Asset Limited ถือหุ้น 600 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% หลังเสนอขาย IPO จะถือหุ้น 475 ล้านหุ้น คิดเป็น 19%

ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษี และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ

Back to top button