พาราสาวะถีอรชุน
น่าจะทำให้โล่งอกไปได้บ้างสำหรับรัฐบาลคสช. จากการได้ข่าว บารัค โอบามา เสนอชื่อคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา หลังจากที่ทูตคนก่อน คริสตี้ เคนนี่ย์ หมดวาระเดินทางกลับประเทศไปนานร่วมครึ่งปี อย่างน้อยก็น่าจะลดภาวะอึมครึมเรื่องสัมพันธ์และการกดดันสารพัดรูปแบบที่มีต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว
น่าจะทำให้โล่งอกไปได้บ้างสำหรับรัฐบาลคสช. จากการได้ข่าว บารัค โอบามา เสนอชื่อคนที่จะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา หลังจากที่ทูตคนก่อน คริสตี้ เคนนี่ย์ หมดวาระเดินทางกลับประเทศไปนานร่วมครึ่งปี อย่างน้อยก็น่าจะลดภาวะอึมครึมเรื่องสัมพันธ์และการกดดันสารพัดรูปแบบที่มีต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว
แต่การส่งทูตมาประจำประเทศไทย ก็ใช่ว่าจะเป็นไปแบบปกติ เพราะมีการวิเคราะห์ปูมหลังของว่าที่ทูตคนใหม่ที่ชื่อ เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ซึ่งมีฐานะเป็นนักการทูตอาวุโส ที่คร่ำหวอดในแวดวงการทูตมานาน ล่าสุด ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการท่าทีของสหรัฐว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือที่อื้อฉาว
กล่าวคือ ว่าที่ทูตประจำประเทศไทยคือผู้ที่ชำนาญการทูตในภาวะวิกฤตนั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า สหรัฐกำลังส่งทูตมาประจำการเพื่อรับมือกับรัฐบาลทหาร โดยมองว่าน่าจะกินเวลายาวนานกว่าเงื่อนเวลาที่คาดหมายไว้ ทั้งนี้ มีบางรายมองว่า บางทีอาจจะเป็นความกังวลของผู้นำมะกันที่เห็นรัฐบาลคสช.ไปจับมือผูกมิตรกับคู่แค้นสำคัญอย่างรัสเซีย
คงไม่ถึงขนาดนั้น ทว่าการยืดเวลาออกไปพอสมควรไม่มีการแต่งตั้งโดยทันที บวกกับเลือกคนที่มีคุณสมบัติพิเศษ ย่อมไม่ใช่การส่งทูตมาประจำการโดยปกติทั่วไปแน่นอน เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครสามารถถอดรหัสได้ว่า มาคราวนี้พี่เบิ้มของโลกจะเล่นกลอะไรกับไทยแลนด์ แต่หากมองในแง่ดี เฉพาะมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางทีอาจจะไม่มีอะไรในกอไผ่ก็เป็นได้
จะว่าไปแล้ว ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้อยู่ที่ท่าทีของนานาชาติ หากแต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในประเทศเป็นสำคัญ เรื่องการยอมรับผู้มีอำนาจที่เกิดจากปลายกระบอกปืนนั่นเป็นอีกปม สังคมโลกส่วนหนึ่งที่แอนตี้เป็นปกติ แต่ในมิติของการทำมาค้าขายอย่างไรเสียก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพียงแต่บางประเทศอาจมีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดนั่นก็อีกเรื่อง
สิ่งสำคัญคือ การแสดงความจริงใจและทำให้สังคมโลกเห็นว่า กระบวนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นนั้นคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยขนาดไหน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเชื่อมโยงไปยังการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งท้ายที่สุดหลายฝ่ายเฝ้ามองกันว่าจะมีการทำประชามติถามความเห็นคนทั้งประเทศหรือไม่ เมื่อได้ฟังคำตอบของ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.แล้ว ก็น่าที่จะเห็นแนวโน้มความเป็นไปได้
หากยึดตามตรรกะของประธานสปช.ก็คือ ณ วันนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าทำประชามติก็ย่อมจะไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่หากมีการดำเนินการรับฟังความเห็นและชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนตลอดระยะเวลาที่เหลือกว่าที่สปช.จะมีการพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าประชาชนน่าจะเข้าใจแต่ต้องขับเน้นประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงและใช้สื่อหลายประเภทเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ มันอยู่ที่ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างได้เปิดกว้างทางความคิดและนำเอาความเห็นต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาหรือไม่ การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมและรับเอาสิ่งที่ผู้เสนอไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมจะทำให้เกิดการยอมรับได้จากทุกฝ่าย เพราะเชื่อมั่นได้ว่านั่นไม่ใช่การล็อกสเป็ก
สิ่งที่หลายคนเป็นกังวลคือ เกรงว่าที่ทำกันมาเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นจะเป็นเพียงการสร้างภาพ จัดฉากเสียมากกว่า เมื่อถึงเวลาก็จะใช้พิมพ์เขียวที่มีอยู่ก่อนแล้วมาบังคับให้ประชาชนต้องเลือกในลักษณะมัดมือชก ซึ่งนั่นย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดการไม่ยอมรับ ส่วนจะนำไปสู่ความวุ่นวายอย่างอื่นตามมาหรือไม่ ฝ่ายความมั่นคงน่าจะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว
วาทกรรมของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับคนทั้งประเทศโดยจะยกระดับจากประชาชนให้เป็นพลเมืองนั้น มีคำถามในเชิงย้อนแย้งว่า ภาษาที่สวยหรูนั้นไม่ได้ทำให้คนทั่วไปรู้สึกดีขึ้น ความเป็นจริงคำว่าพลเมืองไม่ได้แก้ปมเรื่องความไม่เท่าเทียมแม้แต่น้อย เพราะคนบางกลุ่มเกรงว่าตัวเองจะถูกจัดให้เป็นพลเมืองชั้นสอง
รูปรอยของบางเหตุการณ์เวลานี้ ทำให้หลายคนเชื่อว่า ท่าทีของผู้ยึดอำนาจก่อนหน้าที่บอกว่าไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ทำไปทำมาดูท่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว เพราะบางพวกทำตัวเป็นผู้รู้ หมอดูเทวดา ชี้เหตุการณ์โน้นจะเป็นอย่างนี้เหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างนั้น เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคง คนก็อดคิดไม่ได้ว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หากผู้มีอำนาจไม่สั่งหุบปากหรือเลิกแสดงตัวว่าเป็นพวกเดียวกัน มีแต่เสียกับเสีย
เช่นเดียวกันกับกรณีของโหรบางรายที่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุว่า เป็นคนรับใช้คนมีสีมาโดยตลอด จึงเสนอคำทำนายที่สร้างความชอบธรรมก็ฝ่ายคุมกำลังเสมอ เช่นเดียวกันกับทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์กับคนเสื้อแดงและคนแดนไกล ที่ถือว่าเป็นทัศนะต่อต้านประชาธิปไตย โหรลักษณะนี้จึงไม่เคยแสดงความเชื่อถือว่า ประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้นและประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบนานาประเทศ
กล่าวคือ คำทำนายของโหรคนดังว่าจึงสอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมืองของฝ่ายจารีตนิยมกระแสหลักเสมอ สรุปได้ว่า คำทำนายแบบโหรคนดังว่าเที่ยวล่าสุด จึงเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ โดยที่อาจารย์ยิ้มวิพากษ์ไปถึงว่าคงไร้สาระเท่ากับคนบางคนที่เป็นอยู่ในเวลานี้เสียด้วยซ้ำ ขออนุญาตที่จะไม่พาดพิงถึงใคร ไปเดากันเอาเองและไม่ต้องบอกใบ้ เพราะในยามนี้ก็คนเล่นเกม (การเมือง) กันแค่ไม่กี่คน