ต้องฟังเสียงประชาชน(บ้าง)
“เรือดำน้ำ ดำลงไปๆ ไปปัก ปักเลนเลย เรือแล่นๆ ไป ลงไป ดำน้ำไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนจึงเห็น แล่นๆ ไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ๆ ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ ไกลไป เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราทำเราสร้างก็ใช้ได้ดีแล้ว”
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
“เรือดำน้ำ ดำลงไปๆ ไปปัก ปักเลนเลย เรือแล่นๆ ไป ลงไป ดำน้ำไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนจึงเห็น แล่นๆ ไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ๆ ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ ไกลไป เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่สิ่งที่เราทำเราสร้างก็ใช้ได้ดีแล้ว”
พระบรมราโชวาทในหลวงฯรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2550
ครับ ผ่านมาแล้ว 10 ปี โครงการที่นึกไม่ถึงว่าจะสร้างได้ ก็ดำผุดดำว่ายเข้าครม.ประยุทธ์เป็นผลสำเร็จตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 60 แต่มติครม.เพิ่งมาเปิดเผยเอา 1 สัปดาห์หลังจากนั้น
สาเหตุที่ไม่มีคำแถลงมติครม.ก็อ้างไปยังเอกสารริมแดงชั้นรักษาความลับ จึงไม่จำเป็นต้องแถลงเพราะเป็นเรื่องความมั่นคง โฆษกไก่อูมีแถมว่า “ก็ไม่มีใครถามนี่”
ผู้ใหญ่บางคนยังให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ
ก็ต้องถามกันอยู่ดีล่ะว่า เรือดำน้ำ 1.35 หมื่นล้านบาทเนี่ยใช้เงินงบประมาณจากภาษีอากรประชาชนไหม แล้วประชาชนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยยังไง
ก่อนหน้านี้ กองทัพบกก็ซื้อรถถังจีน 2 พันล้านบาท มีการสั่งปูนบำเหน็จ 2 ขั้นให้ข้าราชการที่มาช่วยงานคสช. แล้วก็มาเรือดำน้ำ นอกจากนี้ก็ยังมีรายการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากเหล่าทัพต่างๆ ที่รอการอนุมัติอยู่อีกในราว 2.3 หมื่นล้านบาท
ข่าวเรือดำน้ำมาพร้อมกับการขึ้นค่าไฟอีกยูนิตละ 12 ส.ต.ซะด้วย
ในทัศนะของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ให้น้ำหนักปัญหาความมั่นคงพอๆ กับปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็โชคไม่ดีสักเท่าไหร่ที่เศรษฐกิจไทย 3 ปีมานี้ ไม่ส่อสัญญาณฟื้นตัวเลย จึงช่วยไม่ได้ที่จะมีเสียงวิจารณ์เรือดำน้ำกันอื้ออึงไม่เลิก
รัฐบาลก็ต้องรับฟังบ้างล่ะนะ
ส่วนจะโทษนั่นโทษนี่เช่น รัฐบาลชุดจำนำข้าวสร้างภาระงบประมาณแก่รัฐบาลตนเองจนไม่มีเงินไปแก้ปัญหาได้ถนัดมือก็สุดแท้แต่จะเอ่ยอ้างกันไป ซึ่งก็ต้องระวังผลด้านกลับเหมือนกันว่า การพูดอะไรซ้ำๆ ซากๆ ก็จะกลายเป็นการรำไม่ดี โทษปี่โทษกลองไป
นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาคบังคับของกฎหมาย ที่บัดนี้มีรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับแล้ว รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นประชาชนก่อนการตรากฎหมายใดๆ ถึงแม้ยังมีม.44 อยู่ก็ตาม
รัฐธรรมนูญมาตรา 77 บัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง, วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นนั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน
การมีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เท่ากับว่าต่อจากนี้ไป ร่างกฎหมายที่ยังคงคั่งค้างในสนช.นับร้อยฉบับ ต้องใช้เวลามากขึ้นในการรับฟังความเห็นประชาชนทุกขั้นตอน
คงจะรวบรัดพิจารณาโดยประชาชนไม่มีส่วนรับรู้เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว
ช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว การปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติก็ยังไม่ดีนัก ผู้ปกครองที่ดี แทนที่จะใช้วิธีการหักหาญกับคนในชาติ ก็ควรจะหันหน้ามารับฟังความเห็นประชาชนก็จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลายลงมิใช่น้อย
เสียงประชาชนที่มีความหมายมากยิ่งขึ้น จะช่วยจรรโลงบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอันดี