กลับสู่ปัญหา ไก่ กับ ไข่

การเมืองโลกยามนี้ คือตัวถ่วงรั้งขาขึ้นของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจน เพราะกระแสของชาติมหาอำนาจเกิดคลื่นใหญ่ที่เรียกว่า "ขบวนการการต่อต้านการเมืองกระแสหลัก" (Anti-Establishment Movement) ขึ้นมา


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

การเมืองโลกยามนี้ คือตัวถ่วงรั้งขาขึ้นของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจน เพราะกระแสของชาติมหาอำนาจเกิดคลื่นใหญ่ที่เรียกว่า “ขบวนการการต่อต้านการเมืองกระแสหลัก” (Anti-Establishment Movement) ขึ้นมา

ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ขบวนการต่อต้านการเมืองกระแสหลักนี้ มีเป้าหมายอะไรบ้าง แต่ที่ชัดเจนคือ พวกเขาต่อต้านพรรคการเมืองรุ่นเก่า ต่อต้านสถาบันเก่า และมุ่งหวังสร้างกระแสหรือบรรยากาศแห่งอำนาจใหม่ด้วยวิธีที่ต่อสู้จากภายในระบบ ไม่มีเค้าลางของการต่อสู้เพื่อหักล้างหรือปฏิวัติสังคมหรืออำนาจรัฐเก่าอย่างถอนรากถอนโคน หรือสร้างสถาบันทางอำนาจขึ้นมาใหม่แต่อย่างดี

ข้อเรียกร้องของขบวนการต่อต้านการเมืองกระแสหลัก (ซึ่งมีลักษณะที่หลากหลาย ไม่มีทิศทางชัดเจน แต่ขึ้นกับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ) ในหลายปีมานี้ เกิดดอกออกผลเร็วเกินคาด เพราะทำให้โลกได้เรียนรู้กับผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงจรอำนาจ ด้วยนโยบายและแนวคิดที่พิลึกพิลั่นมากขึ้น

คนอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ คนอย่าง มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี คนอย่างเรเซป เออร์โดกัน แห่งตุรกี คนอย่างเอมมานูแอล มาครง และมารีน เลอ แปน แห่งฝรั่งเศส ได้ใช้โอกาสและช่องโหว่ของระบบการเลือกตั้งเข้าเป็นผู้นำของประเทศ ด้วยแรงสนับสนุนของคนหนุ่มสาวที่ปฏิเสธระบบเดิมที่ใช้โครงสร้างสังคมเดิมสร้างภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

คนเหล่านี้ อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ปฏิเสธการเมืองกระแสหลักจริง แต่รู้จักใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ สร้างข้อเสนอทางการเมืองแบบลูกผสมในยุคหลังวิกฤติซับไพร์มให้เป็นเครื่องมือที่โดนใจคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่ต่อต้านการเมืองกระแสหลัก กรุยทางขึ้นสู่อำนาจ

หลายปีก่อนกระแส “ต่อต้านวอลล์สตรีท” ที่ฮือฮากันนานร่วมปี พัฒนามาจากกระแสต่อต้านการเมืองกระแสหลักในสเปน และอิตาลีด้วยจุดเริ่มต้นคล้ายกันคือ คนหนุ่มสาวที่ผิดหวังกับสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤติเรื้อรัง พบว่าตนเองกลายเป็นคนไร้อนาคตเพราะหาคนจ้างงานยากเย็นแสนเข็ญ จึงรวมตัวกันก่อหวอดกันขึ้นมา

อีกทางหนึ่งเศรษฐกิจการเมืองหลังจากเชื้อโรคโลกาภิวัตน์แสดงอาการแพร่ระบาด ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติได้รับประโยชน์ถ่ายเดียวเหนือกลุ่มอื่นๆ ทำให้กระแสชาตินิยมคับแคบกลับมามีบทบาทครั้งใหม่ในกลุ่มปัญญาชนและคนหนุ่มสาว

ส่วนผสมที่คลุมเครือของกระแสต่อต้านการเมืองกระแสหลัก ที่มีจุดร่วมระหว่างความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ต่อต้านทุนใหญ่ และต่อต้านต่างชาติ ได้บานปลายเป็นกระแสต่อต้านทุนนิยมเสรีในบางส่วนที่มีนัยสำคัญ แต่ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อต่อต้านการเมืองกระแสหลักนี้ ยังไม่มีความชัดเจน เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ การชุมนุม แจกใบปลิว แพร่กระจายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ยังไม่มีข้อเรียกร้องใดให้โค่นล้มระบบการเมืองที่เป็นอยู่

ประเด็นสำคัญที่เป็นรากฐานของความคับข้องใจของคนในสังคม และขาดโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาว ในการเข้ามีส่วนร่วมในความมั่งคั่งของสังคม คือ การที่เศรษฐกิจ (โดยเฉพาะภาคการเงินและเก็งกำไร) โต แต่การจ้างงานต่ำ ทำให้ภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงดำรงอยู่ไม่สิ้นสุด

ความลักลั่นของเป้าหมาย (ที่ยังคลุมเครือ) และยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีของการต่อสู้ เปิดช่องให้นักการเมืองฉวยโอกาสสร้างข้อเสนอประหนึ่งต่อต้านการเมืองกระแสหลักเพื่อ “ปฏิรูป” โครงสร้างเดิม จึงมีผลให้การเมืองของโลกมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน และ “แยกส่วนเป็นเรื่องๆ” ไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน

ภาวะเช่นนี้ จะยังคงครอบงำกระแสการเมืองในระดับโลกไปอีกยาวนานพอสมควร เพราะว่า ยังมีทางเลือกที่ช่วยให้ปัญหาสามารถผ่าทางตันออกไปได้บางส่วน แม้จะยังไม่ใช่ทางออกที่น่าพึงพอใจมากนัก แต่เนื่องจากการขาดทิศทางมุ่งสู่อนาคตทำให้การหาทางออกเฉพาะทางเป็น “ทางเลือกดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” (the best of all possible world) ตามนัยของ “ก็อดฟรีด ไลป์นิส” ไม่ผิดเพี้ยน

การวิ่งขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นที่ไม่สอดรับกับเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก (รวมทั้งจีน) เป็นสถานการณ์ที่มีขีดจำกัดและไม่เป็นไปตามสัญญาณทางเทคนิคเสมอไป ทำให้ฟันด์โฟลว์มีทางเลือกลดลงในการเคลื่อนย้ายทุน ต้องหันมาใช้เทคนิคเก่า “เล่นสั้น ขยันซอย” แข่งกับรายย่อย อย่างไม่มีความจำเป็น

ตัวอย่างของดัชนี SET ที่เดือนเมษายนที่ผ่านมา พยายามที่ฝ่าแนวต้านขึ้นไปเหนือ 1,580 จุด แต่ไม่สำเร็จ และจะร่วงลงมาที่ต่ำกว่า 1,560 จุด ก็ทำไม่ได้ แม้ว่าค่าพี/อี ของตลาดหุ้นไทยจะสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนแล้วก็ตาม เป็นสภาพอีหลักอีเหลื่ออย่างยิ่ง ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบางชัดเจน สะท้อนให้เห็นขีดจำกัดการเคลื่อนตัวของราคาหุ้นที่เลี่ยงไม่พ้นข้อจำกัดของปัจจัยรอบด้าน โดยเฉพาะแรงซื้อสุทธิของต่างชาติ ตลอด 4 เดือนแรกปีนี้ ที่มีแค่เพียง ไม่ถึง 1.0 หมื่นล้านเท่านั้น

กระแสต่อต้านการเมืองกระแสหลัก ที่โยงเข้ากับความไม่ชัดเจนของฟันด์โฟลว์ในระดับโลก เป็นปัญหาที่ตอบยากทำนองเดียวกับคำถามว่า ไก่ หรือไข่ อันไหนเกิดก่อนกันน่ะแหละ

กว่าจะได้คำตอบ ผลลัพธ์ก็คงออกมาเสียแล้ว โดยไม่ต้องรอคำตอบ

Back to top button