ETE มั่นใจ Q1/60 พลิกมีกำไร หลังรับรู้ Backlog ของ 3 ธุรกิจ
ETE มั่นใจ Q1/60 พลิกมีกำไร หลังรับรู้ Backlog งานบริหารจัดการ,งานวิศวกรรม, รับรู้รายได้-กำไรโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตรเฟส 1 – เดินหน้าประมูลงานด้านการบริการบริหารจัดการ, งานด้านบริการงานวิศวกรรมต่อเนื่อง – เล็งศึกษาโครงการพลังงานลม
นายไรวินทร์ เลขวรนันนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ETE เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าแนวโน้ผลการดำเนินงานทั้งรายได้และกำไรในไตรมาส 1/60 จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนราว 5 ล้านบาท และเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ของงานด้านบริหารจัดการและงานด้านวิศวกรรมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ เริ่มรับรู้รายได้และกำไรจากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตรเฟส 1 ที่บริษัทมีจำนวนกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16.47 เมะวัตต์ ซึ่งเริ่ม COD ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.60 ทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรจากธุกิจพลังงานทดแทนเข้ามาเสริมตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้
ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2/60 บริษัทเชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/60 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะการรับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาเต็มที่ อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าผผลการดำเนินงานจะโดดเด่นมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการรับรู้รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการและธุรกิจบริการงานวิศวกรรมจะเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาส 3/60 ที่จะรับรู้รายได้เข้ามาอย่างมาก ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก
“บริษัทมั่นใจว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.41 พันล้านบาท ด้วยการรับรู้รายได้จาก Backlog ของ 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจการบริการบริหารจัดการ ธุรกิจบริการงานวิศวกรรม และธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมูลค่ารวม 4.55 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในปีนี้ 1.37 พันล้านบาท” นายไรวินทร์
อนึ่ง สัดส่วนรายได้ของบริษัทในปี 60 และ 61 ของบริษัท แบ่งเป็น สัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบริการบริหารจัดการ 40% สัดส่วนรายได้จากธุรกิจบริการงานวิศวกรรม 40% สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนจากไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 10% และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 10%
ขณะที่ระหว่างการดำเนินงานในปีนี้บริษัทคาดว่าจะได้งานในธุรกิจการบริการ บริหารจัดการ และธุรกิจบริการงานวิศวกรรมที่สามารถรับรู้รายได้ได้ทันทีภายในปีนี้เข้ามาเสริม ประกอบกับมีรายได้จากธุรกิจจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ภายใต้บริษัท โกลว์ เทรดดิ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่เพิ่งตั้งขึ้นและตั้งเป้ารายได้ในปีนี้อยู่ที่ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าประมูลงานด้านการบริการบริหารจัดการและงานด้านบริการงานวิศวกรรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ยื่นประมูลงานทั้ง 2 ประเภท มูลค่ารวม 1 พันล้านบาท และในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.60 จะมีงานด้านการบริการบริหารจัดการ และงานด้านบริการงานวิศวกรรมเตรียมเปิดประมูลค่อนข้างมากกว่า 4-5 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นงานด้านบริการงานวิศวกรรมในสัดส่วน 60% และงานด้านการบริการบริหารจัดการ 40% ซึ่งบริษัทคาดหวังได้งานมากที่สุดเพื่อเพิ่ม Backlog รองรับการเติบโตของผลการดำเนินงานในปีต่อๆ ไป
นายไรวินทร์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมความพร้อมยื่นคำขอเข้าร่วมโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ที่ภาครัฐจะเปิดให้ยื่นเข้าร่วมโครงการ 216 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์การเกษตร 116 เมกกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะยื่นในนามของบริษัท อีทีจี เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยคาดหวังกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ฟาร์มที่สามารถทำได้สูงสุดอยู่ที่ 55 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ หากบริษัทได้รับกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มในครั้งนี้จำนวนมากหรือได้ตามความสามาถที่ทำได้สูงสุดถึง 55 เมกะวัตต์ จะทำให้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้น แหล่งเงินทุนที่คาดว่าจะนำมาใช้คือการเพิ่มทุนหรือการออกหุ้นกู้ แต่หากได้จำนวนกำลังผลิตน้อยกว่าที่คาดไว้ ก็คงใช้เงินลงทุนไม่มากนัก แหล่งเงินทุนก็อาจจะมาจากกระแสเงินสดและการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอีกส่วนหนึ่ง เพื่อรองรับการลงทุน
สำหรับราคารับซื้อไฟฟ้าภายใต้ FiT ในโครงการโซลาร์ฟาร์มเฟส 2 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 4.12 บาท/หน่วย หรือลดลงราว 27% จากอัตรา FiT ของเฟส 1 ที่ 5.66 บาท/หน่วย ถือว่ายังมีความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะบริษัทยังมีส่วนต่างกำไรใกล้เคียงกับการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม เฟส1 ที่มีกำไรจากการขายไฟเฉลี่ยปีละ 27 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนก่อสร้างมีต้นทุนลดลง 30% ซึ่งต้นทุนค่าก่อสร้างลดลงมากกว่าค่า FiT ซึ่งทำให้ยังมีส่วนต่างกำไรอยู่ และการก่อสร้างบริษัทจะใช้การก่อสร้างแบบ Turn Key ทั้งระบบ ซึ่งได้ได้งานที่มีคุณภาพและมีการทำงานที่ต่อเนื่อง
“บริษัทยังมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานลม ที่อยู่ระหว่างศึกษาและรอโอกาสที่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากมองว่าการลงทุนมีความเป็นไปได้สูง หลังจากโครงการที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้พบว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าการลงทุนโครงการชีวมวล แต่หากบริษัทมีโอกาสลงทุนในพลังงานลมจะคงต้องร่วมกับพันธมิตร และจะเน้นการลงทุนในประเทศก่อน” นายไรวินทร์ กล่าว