แอกของชาติส่งออกน้ำมัน
นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกที่เคยทำท่ามีเสถียรภาพมาหลายเดือนต่อเนื่อง เริ่มแกว่งไกวกลับไปสู่ราคาที่ไร้เสถียรภาพชัดเจน แกว่งใต้ระดับ 50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกที่เคยทำท่ามีเสถียรภาพมาหลายเดือนต่อเนื่อง เริ่มแกว่งไกวกลับไปสู่ราคาที่ไร้เสถียรภาพชัดเจน แกว่งใต้ระดับ 50.00 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง
คำอธิบายที่คุ้นหู มาจาก 2 ปัจจัยคือ 1) การผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้ผลผลิตน้ำมันกลับมาล้นตลาดครั้งใหม่ 2) การลดกำลังการผลิตของชาติส่งออกน้ำมัน ยังไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยเฉพาะชาตินอกโอเปกที่เข้ามาทำ “สัญญาปากเปล่า” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้อุปทานของตลาดน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มล้นตลาด
ล่าสุด มีคำถามตามมาว่า ข้อตกลงลดกำลังการลิตของชาติโอเปกและนอกโอเปกที่มีอายุใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2560 เป็นระยะเวลา 6 เดือนที่กำลังจะสิ้นสุดลงจะได้รับการต่ออายุหรือไม่
แม้การคาดเดาส่วนใหญ่จะออกมาทางบวกว่า ชาติส่งออกมีทางเลือกเดียวเท่านั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน คือ การทำข้อตกลงเพื่อต่ออายุไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้
ล่าสุด นักวิเคราะห์ในตลาดน้ำมันคาดการณ์ใหม่อีกว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจำต้องหาทางยืดระยะเวลาลดกำลังผลิตไปจนถึงปลายปีหน้า เพื่อแก้ปัญหาภาวะน้ำมันล้นตลาด โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกโอเปก ที่จำเป็นต้องติดตามรายงานปริมาณน้ำมันดิบในคลังเพื่อประเมินท่าทีชัดเจน ก่อนที่โอเปกจะประชุมกันในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ที่กรุงเวียนนาจะเริ่มขึ้น
ตามข้อตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน เพื่อแก้ปัญหาตลาดน้ำมันเผชิญภาวะน้ำมันล้นตลาดเป็นเวลา 3 ปี มีการประชุมลดกำลังการผลิตภายในกลุ่มโอเปกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ได้ปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน (ไม่นับอิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรีย) สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน และอีกข้อตกลงหนึ่งชาติผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกนำโดยรัสเซียได้ตกลงปรับลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรล/วัน
ดังที่ทราบกันดี การที่ราคาน้ำมันดิ่งเหวนาน 2 ปีจากระดับเหนือกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติของอุปทานและอุปสงค์ แต่เกิดจากสงครามแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดระว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย ได้ ลงมือประกาศสงครามราคาอย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผย แต่ในระหว่างที่ราคาน้ำมันเริ่มดิ่งเหวนั้น ชาติสมาชิกโอเปก นำโดย อิรัก และ ซาอุดีอาระเบียพากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายวันละ 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่สถานการณ์ซ้ำเติม ก็มาจากการที่อิหร่านได้รับอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันเสรีอีกครั้ง หลังข้อตกลงนิวเคลียร์มีผลบังคับใช้ ชดเชยระหว่างที่ถูกคว่ำบาตรมานานกว่า 5 ปี
แม้ช่วงแรกของการต่อสู้ บริษัทขุดเจาะน้ำมันสหรัฐอเมริกาก็ไม่ย่นย่อ เพราะว่ามีการเพิ่มหลุมขุดเจาะน้ำมันมากขึ้นจนปริมาณสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตสัปดาห์ละประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในที่สุดก็ลดการผลิตลง มีการปิดหลุมเจาะน้ำมันลงจำนวนมาก หลังจากขาดทุนหนักเพราะต้นทุนแพงกว่าชาติโอเปก
การลดลงของผลผลิตในสหรัฐฯ และต่อมาในจีน ผสมโรงเข้ากับความพยายามของรัสเซียและโอเปกในการที่จะพยุงราคาน้ำมันโดยสร้างอุปสงค์เทียม ว่าจะมีการทำข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมัน มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันถูกแรงเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ พลิกกลับเป็นขาขึ้นระลอกใหม่ เมื่อปฏิบัติการช็อกโลกของโอเปกเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน จากการที่ซาอุดีอาระเบีย “ทุบโต๊ะ” ชักจูงให้ชาติโอเปกทำข้อตกลงลดกำลังการผลิตเพื่อดึงราคาน้ำมันให้สูงขึ้นชั่วคราวหรือยั่งยืน
ปฏิกิริยาที่ฉับพลันหลังจากเดือนพฤษภาคม 2559 คือราคาน้ำมันและราคาหุ้นพลังงานทั่วโลกพุ่งขึ้นรุนแรงจากจดต่ำสุด 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นมาเหนือ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ตลาดหุ้นและราคาสนค้าโภคภัณฑ์อื่นทั่วโลกฟื้นตัวไปด้วย
การที่ซาอุดีอาระเบียเป็นกลไกสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของการประชุมโอเปกปีที่ผ่านมา ด้วยท่าทีที่อ่อนลงของซาอุดีอาระเบียในการ “ยอมงอ ก่อนหัก” ที่ยอมรับเงื่อนไขให้อิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรีย ตรึงกำลังการผลิตน้ำมันหรือเพิ่มกำลังการผลิตได้ เป็นการประนีประนอมที่สำคัญยิ่ง และยินดีแบก “แอกของผู้นำ” ในระดับโลก
ท่าทีข้างต้นมีความหมายสำคัญยิ่ง เพราะการที่ซาอุดีอาระเบียยอมเสียหน้า เนื่องจากมีไพ่สำคัญที่ต้องบรรลุคือ ทำให้ราคาน้ำมันยกระดับสูงขึ้นเพื่อสร้างกำไรจากการขายน้ำมันดิบได้เงินตราระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สมกับเป็นผู้นำของโอเปกโดยพฤตินัยอย่างแท้จริง ก่อนที่สมาชิกโอเปกจะล่มสลายทางการคลังเพราะความยากจน สะท้อนความช่ำชองของการเจรจาของซาอุดีอาระเบียอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่สำคัญและยากกว่าข้อตกลงก็คือ การหาทางทำให้ข้อตกลงลดกำลังการผลิตมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้มีวินัยพอสมควร จะมีขัดข้องอยู่ที่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ไม่ได้ทำข้อตกลงกับใครเลย
รายงานล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของ เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 9 แท่น สู่ระดับ 697 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 15 ติดต่อกัน ผลลัพธ์ที่เลี่ยงไม่พ้นคือ การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชิตผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม.2558
ประเด็นสำคัญของการประชุมโอเปกปลายเดือนนี้ก็คือ จะต้องหาข้อมูลให้ได้ว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกเท่าใด และนานเท่าใด จึงจะสามารถทำให้ตลดาน้ำมันกลับมามีเสถียรภาพเพียงพอที่จะแก้ปัญหาน้ำมันล้นตลาดได้ (โดยที่รวมเอาผลผลิตของสหรัฐฯ เข้าไว้ด้วย
หากตอบคำถามนี้ไม่ได้ มีข้อตกลงไปก็เปล่าดาย เพราะอาจจะทำให้มีการเบี้ยวข้อตกลงเกิดขึ้นได้อีก ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักว่าเดิม
โจทย์นี้ ยากกว่าปีก่อนเท่าตัว