ขึ้นเพื่อลง VS ลงเพื่อขึ้น
เมื่อวานนี้ ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย : ปิดทรงตัวด้วยตัวเลขประหลาดที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เรียกว่าหลายปีครั้งก็ว่าได้ หลังแกว่งในกรอบจำกัดตามแรงเก็งกำไรหุ้นรายตัว เพื่อฆ่าเวลารอดูผลประชุมเฟดตอนก่อนรุ่งสางเช้าวันนี้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย : ปิดทรงตัวด้วยตัวเลขประหลาดที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เรียกว่าหลายปีครั้งก็ว่าได้ หลังแกว่งในกรอบจำกัดตามแรงเก็งกำไรหุ้นรายตัว เพื่อฆ่าเวลารอดูผลประชุมเฟดตอนก่อนรุ่งสางเช้าวันนี้
SET ปิดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,564.12 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง 3.25 หมื่นล้านบาท หลังจากที่เปิดตลาดวานนี้มีการแกว่งตัวอยู่ในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ผ่านแนวต้านสำคัญ 1,570 จุด เพราะยังไร้ปัจจัยใหม่ และนักลงทุนยังรอผลการประชุมเฟดที่จะออกมา มีเพียงการซื้อขายเก็งกำไรหุ้นรายตัว ตามผลประกอบการไตรมาสแรกที่ทยอยออกมา ผสมกับช่วงเวลาขึ้นเครื่องหมาย XD หรือ XW ของบริษัทต่างๆ
ตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนภายนอกตลาดคือ ค่าเงินบาท ที่วานนี้เริ่มต้นแข็งค่าในภาคเช้า แต่อ่อนตัวลงในภาคบ่ายไร้ทิศทางเงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.48 บาท/ดอลลาร์จากแรงเทขายทำกำไร อ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 34.46 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างวันทำการมีการแกว่งตัวในกรอบเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา
ปัจจัยชี้ขาดค่าเงินบาทอยู่ที่ว่าถ้าผลประชุม FOMC ของเฟดไม่มีอะไรทำให้ประหลาดใจ เช้านี้ค่าบาทน่าจะมีทิศทางแข็งค่า ส่วนหนึ่งเพราะแนวโน้มการส่งออกของไทยดีขึ้นจนหลายหน่วยงานทำการปรับประมาณการเติบโตของการส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ระหว่าง 2.5-3.5% จากเดิมคาดขยายตัว 2-3%
เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียด นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินหลายแห่งประเมินว่า สถานการณ์ส่งออกของไทยในไตรมาส 2 จะเติบโตต่อเนื่องที่ 5% แต่การส่งออกไทยในครึ่งปีหลังอาจไม่สดใสเท่าช่วงครึ่งปีแรก เพียงแค่คาดเดาว่า ตัวเลขการส่งออกไทยในปี 2560 นี้ มีโอกาสขยายตัวได้ 2-5% จากเดิมที่คาดโต แค่ 2%
ตัวแปรทั้งบวกและลบของการส่งออกของไทยในฐานะหัวขบวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ อยู่ที่ 1) ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทั้งในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี 2) สถานการณ์หนี้ทั่วโลกที่สูงถึง 315% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลก ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงและส่งผลต่อกำลังซื้อของทุกตลาดโดยรวม 3) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำธุรกรรมผ่าน e-Commerce ซึ่งจะทำให้ยอดขายสินค้าผ่านช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าดั้งเดิมลดลงต่อเนื่อง
มุมมองของนักวิเคราะห์หุ้นส่วนใหญ่ระบุใกล้เคียงกันว่า มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยระยะนี้ยังคงซึมลงไปอีกในระยะหนึ่ง แต่หากดัชนีปรับตัวลงมาบริเวณ 1,530 จุด ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญสุด จะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อรอบใหม่ทันที
ตัวแปรเรื่องของสภาพคล่องในตลาด จากการที่ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิน้อยมากในต้นปีนี้ ทำให้ตลาดยังแกว่งตัวและชะลอตัวอยู่ในกรอบแคบๆ เพราะรอดูปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามาส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนในแต่ละวันจะไม่คึกคักหรือถึงระดับเบาบาง โดยมีปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ส่วนปัจจัยในประเทศก็ต้องดูการประกาศงบฯไตรมาส 1/60 ของบริษัทที่เหลือที่จะทยอยออกมา ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนประมาณการ EPS ของนักวิเคราะห์
สภาพของการแกว่งตัวดัชนีตลาดอยู่ในกรอบไปอีกระยะหนึ่ง จึงเป็นความเป็นไปได้มากที่สุด เพียงแต่ในแง่ของพื้นฐานแล้ว หากดัชนี SET ปรับตัวลงมาบริเวณ 1,530 จุด : ซึ่งจะทำให้ค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 17.27 เท่า (สูงสุดในอาเซียน) ลดลงไปที่ระดับ 15 เท่าได้ เหมาะกับการซื้อลงทุนอย่างปลอดภัย
มุมมองดังกล่าว ที่มองว่า การร่วงลงของดัชนี จะเป็นผลดีกับตลดาในอนาคต มากกว่าการวิ่งขึ้นของดัชนีในกรอบแคบๆเพราะราคาหุ้นของตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์ลดลง
จุดเด่นของการร่วงลงของดัชนีที่ระดับเหนือ 1,530 ภายใต้ข้อสมมติฐานว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของหุ้นบริษัทต่างๆ ดีขึ้นน่าพอใจ ซึ่งจะทำให้ค่าพี/อีของตลาดลดลงไปอีก จะกลายเป็นโอกาสในการเข้าซื้อระลอกใหม่ เนื่องจากเหตุผลสำคัญคือ ราคาหุ้นยอดนิยมส่วนมากได้ถอยลงเข้าสู่เขตขายมากเกินเทียบกับพื้นฐานและสัญญาณทางเทคนิค
การแกว่งตัวนานนับเดือน และการทรงตัวที่ผิดปกติวานนี้ของดัชนีตลาดหุ้นไทย สะท้อนถึงการแกว่งตัวแคบต่อเนื่องเพราะสัญญาณในตัวชี้นำตลาดมุ่งไปทางอ่อนตัวลง เป็นตัวบ่งชี้ว่า หากตลาดจะขึ้นจากนี้ไป จะเป็นการขึ้นเพื่อลง
ในทางกลับกัน สัญญาณทางเทคนิคของดัชนี โดยเฉพาะกราฟแท่งเทียน ที่กลับสามารถรักษาระดับการเคลื่อนไหวให้อยู่ในกรอบได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งบ่งบอกทิศทางในอนาคตได้ไม่ยากว่า หากดัชนีเคลื่อนตัวลงมาถึงระดับที่เข้าเขตขายมากเกิน โดยเฉพาะใต้แนวรับ 1,560 จุด จะมีโมเมนตัมให้เกิดแรงขายและดัชนีทิ้งตัวลงไปยัง 1,550 จุด
นักวิเคราะห์ที่ช่ำชองทางเทคนิคระบุอีกว่า หากแนวรับสามารถยันเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวได้แข็งแกร่ง และสามารถสร้างแรงซื้อให้ดัชนีเด้งตัวผ่าน 1,568 จุดได้ระลอกใหม่ แรงซื้อจะเข้ามาทำให้ดัชนีเดินหน้าบวกต่อไปยังแนวต้าน 1,585 จุดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอารมณ์ของตลาดที่อัดอั้นมานาน แต่การคาดการณ์ดังกล่าวอาจจะผิดพลาดได้ เพราะต้องการแรงซื้อมากมายของต่างชาติ และรายย่อยสนับสนุน มากกว่าวันละ 5 หมื่นล้านบาทขึ้นไปต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ระดับวันละ 3.0-3.5 หมื่นล้านบาท อย่างที่เป็นอยู่
สถานการณ์อึมครึมว่า จะขึ้นเพื่อลง หรือลงเพื่อขึ้น จึงยังเป็นความท้าทายต่อไป บนความอึดอัดที่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบของนักลงทุนรายย่อยที่กำลังกังวลกับสถนการณ์ว่าจะเป็น ชาวสวน หรือ ชาวดอย หรือ ชาวไล่ กันดี ในห้วงเวลาที่ยังไม่สามารถบอกทิศทางได้ชัดเจน จนกว่าเกิดภาวะ “ทะลุทะลวง” หรือ breaking out ในทางใดทางหนึ่งเสียก่อน