ทุภาษิต หลังสงกรานต์พลวัต2015

นักวิเคราะห์อย่างน้อย 3 สำนัก ออกมาเผยแพร่ภาษิตเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยเอาไว้น่าสนใจว่า “จากข้อมูลทางสถิติ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นราว 2.0% ในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังพ้นเทศกาลสงกรานต์” บางสำนักไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นระบุว่า “สถิติ 5 ปีพบว่า SET จะให้ผลตอบแทน 3% หลังสงกรานต์ทุกปี”


 นักวิเคราะห์อย่างน้อย 3 สำนัก ออกมาเผยแพร่ภาษิตเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยเอาไว้น่าสนใจว่า “จากข้อมูลทางสถิติ 5 ปีย้อนหลัง พบว่า SET Index จะปรับตัวขึ้นราว 2.0% ในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังพ้นเทศกาลสงกรานต์” บางสำนักไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นระบุว่า “สถิติ 5 ปีพบว่า SET จะให้ผลตอบแทน 3% หลังสงกรานต์ทุกปี”

เพื่อพิสูจน์ภาษิตดังกล่าว ทีมข้อมูลของข่าวหุ้นธุรกิจ ทดลองตรวจสอบค้นข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปี นับแต่ปี 2549 จนถึงปีที่แล้ว พบว่า ภาษิตและสถิติดังกล่าว ไม่ตรงหรือมีข้อเท็จจริงรองรับเอาเสียเลย

ภาษิตก็เลยกลายเป็นมายาคติ หรือทุภาษิตไปโดยปริยาย

ข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ระบุเอาไว้เช่นนี้ ปี 2549 ไม่เป็นความจริง หุ้นร่วงหลังสงกรานต์ ปี 2550 เป็นจริง หุ้นขึ้นแรงหลังสงกรานต์ ในปี 2551 ไม่จริง เพราะหุ้นร่วงหนัก ต่อมาปี 2552 หุ้นบวกจริง หลังสงกรานต์ ปี 2553 ไม่จริง เพราะดัชนีหุ้นทรงๆ แถมร่วงลงด้วย ปี 2554 ไม่จริง เพราะร่วงหนักหลังสงกรานต์ ส่วนปี 2555 ไม่จริงอีกเช่นกัน ปี 2556 ก็ไม่จริง เพราะร่วงหนัก แต่ปี 2557 หรือปีที่แล้ว เป็นจริงเพราะหุ้นวิ่งขึ้นแรงหลังสงกรานต์

พูดง่ายคือ จริงมั่ง ไม่จริงมั่ง เอาแน่ไม่ได้ ขึ้นกับสถานการณ์แต่ละปีไป ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นสถิติน่าเชื่อถืออะไร ตามที่นักวิเคราะห์กล่าวอ้าง

ภาษิต ที่กลายเป็นทุภาษิตสำหรับตลาดหุ้น ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของนักวิเคราะห์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีสุภาษิตหรือทุภาษิตทำนองนี้ เกิดขึ้นเสมอในตลาดหุ้นทุกหนแห่ง

หลายปีก่อน นักลงระดับขาใหญ่บางคน เคยบอกกับผมว่า ทุกๆ 10 ปี ตลาดหุ้นไทยจะพัง โดยเฉพาะปี พ.ศ.ที่ลงท้ายด้วยเลข 0 ซึ่งเวลาที่ผ่านมานักลงทุนขาใหญ่รายนั้นก็เจ๊งไปเรียบร้อย เลยไม่สามารถจะเชื่อได้อีกหรือไม่ว่าทุภาษิตดังกล่าวจะพิสูจน์กันอย่างไร

ที่วอลล์สตรีท ก็มีเรื่องทำนองนี้ เช่น คำพูดที่ว่า “ให้ขายหุ้นล้างพอร์ตเดือนพฤษภาคม แล้วกลับมาเดือนกันยายน” (Sell In May And Go Away until Semtember) ซึ่งก็มีคนพิสูจน์แล้วว่า ไม่จริงตามที่อ้างกันเสมอ แต่ก็ยังมีคนชอบพูดกันอยู่นั่น

หรือคำว่า January Effect ที่นักวิเคราะห์บางสำนักชอบเอามาอ้างว่าเดือนมกราคมทุกปี หุ้นจะวิ่งแรงไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็ไม่มีสถิติอะไรมารองรับเช่นกัน

อีกคำหนึ่งที่อ้างบ่อยนักคือ Christmas Rally หรือการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นก่อนวันคริสต์มาสในเดือนธันวาคม ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป อีกเช่นกัน

ความไม่สม่ำเสมอของสถิติที่เอามาอ้าง เกิดจากสาเหตุสำคัญคือ คนอ้างจำขี้ปากเก่าๆ มาแสดงความเห็นเพื่ออวดภูมิว่าเก๋าเกม ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกอบอื่นๆ ที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งหรือเดินหน้าบวกมาด้วย

ผลพวงต่อเนื่องคือ การอ้างแบบทุภาษิตเช่นนี้ ทำให้มีส่วนลดทอนความน่าเชื่อถือของภาษิตดังกล่าวลงอย่างมีนัยสำคัญ กลายเป็นทุภาษิต เอาไว้เอ่ยอ้างหลอกคนโง่ หรือ “ไก่อ่อน” เท่านั้นเอง หาใช่เป็นสัจธรรมทั่วไปไม่ แต่ที่สำคัญทำให้นักลงทุนที่คล้อยและทำตามคำชี้แนะขาดทุนไปด้วย ต้องจ่ายค่าโง่แพงๆ

ในเชิงทฤษฎีคำว่าภาษิต ไม่ใช่กฎตายตัว แต่ใช้ภาษาที่ดูแล้วแฝงปรัชญาอย่างง่ายๆ เอาไว้ให้จดจำกันง่ายๆ โดยมักจะอ้างเชื่อมโยงกับเรื่องราวหรือสถิติในอดีต เพื่อให้น่าเชื่อถือในกลุ่มคนที่รับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ต้องพิสูจน์ให้ยุ่งยาก

ภาษิตบางหัวข้อ มักอ้างอิงประสบการณ์ของคนที่มีชื่อเสียงเพื่อให้ดูประหนึ่งว่าเป็นสัจจะที่ได้รับการยืนยันมาแล้ว จนกระทั่งเสมือนหนึ่งมันเป็นกฎ เช่น เข้าเมืองคนตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม

ภาษิตบางอย่างที่โด่งดังเช่นกฎของเมอร์ฟี่ หรือ Murphy’s Law เช่น อะไรถ้ามันจะผิด ต้องผิด แม้จะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ลึกซึ้งอะไรนัก ก็สามารถเอามาอ้างเอ่ยให้คนพูดดูขลังหรือลึกซึ้งทางปัญญา

 ภาษิตพวกนี้ แตกต่างจากคำชี้แนะบางอย่างเช่น”ซื้อหุ้นตอนตลาดตก ขายตอนตลาดขึ้น” หรือคำพูดของนาธาน ร็อธไชลด์ ที่ว่า “ให้ซื้อหุ้นเมื่อเลือดนองถนน ให้ขายเมื่อเสียงแตรประกาศชัยชนะกังวานขึ้น” ซึ่งมีไว้อ้างอิงประกอบความเห็นเพื่อโยงประสบการณ์ในอดีต

นักลงทุนบางคนที่โด่งดัง อย่างมาร์ก โมเบียส แห่งกองทุนเทมเปิลตันในฮ่องกง เขียนตำราส่วนตัวเรียกว่า กฎของโมเบียส 84 ข้อ ในการลงทุน แต่ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าโมเบียสเคร่งครัดกับกฎทุกข้อมากน้อยแค่ไหน ปล่อยให้เป็นปริศนาเอาไว้

นักเขียนเรื่องราวตลาดหุ้นบางคน เอาคำพูดที่ต่างๆ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ มารวบรวมไว้เป็นเล่ม เพื่อค้นหาหรือสร้างเป็นโมเดลการลงทุนของบัฟเฟตต์ เพื่อจะสร้างภาษิตให้นักลงทุนถือเป็นคัมภีร์ขึ้นมา แต่บัฟเฟตต์ก็ไม่เคยบอกว่านั่นเป็นภาษิตที่ตายตัวและเป็นสัจจะที่เปลี่ยนไม่ได้

เรื่องราวเช่นนี้ ไม่ใช่แปลกใหม่ในโลกของตลาดเก็งกำไร เป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องใคร่ครวญและวิเคราะห์ก่อนเชื่อถือหรือทำตาม เพราะภาษิตดังกล่าวไม่ใช่สัจจะทั่วไปที่ต้องยึดถือ

เรื่องของหุ้นวิ่งขึ้นหลังสงกรานต์แรง นี้ก็น่าจะเช่นเดียวกัน ข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วยืนยันว่า เป็นสถิตึ (สถิติ+สตึ) เป็นได้แค่ ทุภาษิต เท่านั้น

สัปดาห์นี้เราจะได้เห็นกันชัดๆ อีกที

 

Back to top button