ลวกเส้นไม่สุกทายท้าวิชามาร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแจก สปช.แต่ไม่แจกสื่อแจกประชาชน ทั้งๆ ที่จะอภิปรายถ่ายทอดสด หลุดออกมาให้อ่านจนได้
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแจก สปช.แต่ไม่แจกสื่อแจกประชาชน ทั้งๆ ที่จะอภิปรายถ่ายทอดสด หลุดออกมาให้อ่านจนได้
อ่านแล้วไม่รู้จะเริ่มวิจารณ์ตรงไหน เพราะมีปัญหาแทบทุกมาตราแทบทุกบรรทัด เปรียบเป็นก๋วยเตี๋ยวก็ “เนื้อเน่า น้ำพิษ ลวกเส้นไม่สุก” หนำซ้ำ “ไม่ฟังก์ชั่น” เหมือนก๋วยเตี๋ยวแคะแต่ใส่ลูกชิ้นเนื้อแถมไส้กรอกเยอรมัน
“เนื้อเน่า น้ำพิษ” คือสถาปนาอำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้งให้อยู่เหนืออำนาจจากเลือกตั้ง รัฐบาล รัฐสภา ไม่สามารถทำงานตามสัญญาประชาคม เพราะอยู่ใต้อำนาจวุฒิสภาและองค์กรต่างๆ ทั้งเก่าทั้งใหม่ที่ไม่ยึดโยงประชาชน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นประชาชนโง่เขลา ถูกซื้อ เลือกนักการเมืองชั่ว ต้องให้ “คนดี” มาขี่คอไว้โดย “คนดี” ไม่ต้องรับผิดชอบต่อชาวบ้าน
ร่างรัฐธรรมนูญนี้ “โกงความชอบธรรม” สถาปนาอำนาจแต่งตั้งอยู่เหนืออำนาจประชาชนโดยไม่มีความชอบธรรม ซ้ำยัง “วางทุ่น” ขัดขวางไม่ให้รัฐสภาจากเลือกตั้งแก้ไข ถ้าจะแก้ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญต้องลงประชามติ ทั้งที่ตัวรัฐธรรมนูญทำท่าจะ “เบี้ยวประชามติ” ถามหน่อยสิเอาความชอบธรรมมาจากไหน
ประเด็นเหล่านี้ สปช.ซึ่งล้วนเป็น “คนดีผู้มีที่มาไม่ชอบธรรม” คงไม่อภิปรายให้แทงใจดำ โดยเฉพาะการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป 120 คน มาจาก สปช. 60 คน ไว้กำกับรัฐบาลจากเลือกตั้งให้ปฏิรูปตามความฝัน 15-16 ข้อ
ถามหน่อยสิครับ คนดีคนเก่ง อุตส่าห์ระดมมา 250 คน ใช้เป็นเวลาเป็นปี ใช้งบประมาณหลายร้อยล้าน ทำไมยังปฏิรูปไม่เสร็จ ทำไมต้องแขวนปลาย่างหลอกชาวบ้าน เพื่อวางฐานอำนาจให้ตัวเองอยู่ต่อ
อย่างไรก็ดี ถ้า สปช.มีความรับผิดชอบต่อเงินภาษีบ้าง ก็หวังว่าจะอภิปรายประเด็น “ลวกเส้นไม่สุก” และ “ไม่ฟังก์ชั่น” ทั้งที่อุตส่าห์จ้างศาสตราจารย์กฎหมายมหาชนเป็นประธานกรรมาธิการ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ลวก” จนขาดสาระสำคัญหลายประการที่จำเป็นต้องบัญญัติ โดยเฉพาะการตั้งองค์กรใหม่ๆ ให้มีอำนาจในรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่บัญญัติที่มาที่ไป เช่น สมัชชาคุณธรรม สภาพลเมือง สมัชชาพลเมือง หรือคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ คุณสมบัติ ที่มา วิธีสรรหา ฯลฯ ถูกปัดไปไว้ในกฎหมายประกอบที่จะร่างภายหลัง
ตัวอย่างชัดเจน มาตรา 121 ที่มาวุฒิสภา 5 ประเภท 3 ประเภทแรกเลือกกันเองจากข้าราชการเกษียณ ทหารแก่ องค์กรวิชาชีพ ผู้แทนองค์กรต่างๆจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็เอาละวิธีได้มาค่อนข้างชัดเจน แต่ประเภทที่ 4 ผู้ทรงคุณวุฒิ 58 คนต้องมีคณะกรรมการสรรหา ประเภทที่ 5 สว.เลือกตั้ง 77 คน ต้องมีคณะกรรมการคัดกรองผู้สมัครก่อนให้ประชาชนผู้โง่เขลาได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
ถามว่าคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นใครมาจากไหน ทำไมรัฐธรรมนูญไม่เขียนไว้ นี่แย่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งยังเขียนชัดว่าใครเป็นกรรมการสรรหา สว.ลากตั้ง สมัชชาคุณธรรมก็เช่นกัน จะเสนอชื่อถอดถอนนักการเมือง จะสรรหาองค์กรอิสระ มีอำนาจซะขนาดนี้ รัฐธรรมนูญต้องบอกสิว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ใช่ไปหมกไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งกรรมาธิการจะยกร่างภายหลัง
ถ้า สปช.มีความรับผิดชอบ ก็ต้องถามว่าท่านจะยกมือผ่านรัฐธรรมนูญอย่างไร ในเมื่อไม่เห็นภาพองค์กรอำนาจชัดเจน
ส่วนที่ “ไม่ฟังก์ชั่น” คือวางกลไกไม่สมดุล พอหาทางออกไม่ได้ก็ใช้มาตราประหลาดพิกล เช่น กลัวคนจะว่ารัฐบาลอ่อนแอก็ให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมาย “ท้าดวล” สภา ถ้าไม่ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมงถือว่ากฎหมายผ่าน หรือกลัว “เผด็จการรัฐสภา” ก็มักง่ายให้รองประธานคนที่หนึ่งมาจากฝ่ายค้าน
วิธีการอย่างนี้ เด็กนิติปี 4 ก็คิดได้ ไม่ต้องใช้ศาสตราจารย์กฎหมายมหาชนหรอกครับ