เห็บสยาม ยามขาลง?
เมื่อวานนี้ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อดีต กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้ทำการตอกย้ำอีกครั้งอย่างหนักแน่นว่า ผู้คนในสังคมไทย ทุกกลุ่มรู้จักใช้ช่องทางการสื่อสารบนสื่อออนไลน์ ให้เป็นพลังส่วนตัวและสังคมได้ฉับไว ชนิดที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อดีต กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้ทำการตอกย้ำอีกครั้งอย่างหนักแน่นว่า ผู้คนในสังคมไทย ทุกกลุ่มรู้จักใช้ช่องทางการสื่อสารบนสื่อออนไลน์ ให้เป็นพลังส่วนตัวและสังคมได้ฉับไว ชนิดที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
การโพสต์ข้อความในหัวข้อ “การลงทุนในไทย ….เพิ่ม หรือ หด กันแน่?” เฟซบุ๊คบัญชีชื่อ ‘Banyong Pongpanich’ เมื่อหัวค่ำของวันวิสาขบูชา 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง ก่อนที่จะมีการแถลงผลงานครบรอบ 3 ปีของรัฐบาลในเร็ววันนี้
คำวิพากษ์ที่รุนแรงดังกล่าว มีสาระสำคัญโดยอ้างถึงข่าวแถลงของ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุถึงว่าข้อเท็จจริงและการแถงงข่าวที่ระบุว่า “การลงทุนเอกชนสามปีโต 1.7 ล้านล้านบาท” ตรงdyoข้ามกันอย่างขาวกับดำ เพราะรายละเอียดกลับกลายเป็นว่า ตัวเลขการลงทุนจริงที่เกิดจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ในปี 2557 มีการลงทุน 600,000 ล้านบาท ปี 2558 ลดเหลือ 500,000 ล้านบาท พอปี 2559 หดลงอีกมีแค่ 490,000 ล้านบาท และสามเดือนแรกปีนี้มีอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าอีกสามไตรมาสยังลงน้อยเท่าๆ นี้จะมีแค่ 320,000 ล้านบาทเท่านั้น
เรื่องการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนในไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนในรัฐบาลและ คสช.พยายามใช้เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อ (ที่ครำครึในยุคต่อสู้คอมมิวนิสต์) แก้ต่างว่า เกิดขึ้นจากความหมักหมมของรัฐบาลก่อนหน้า หรือ เป็นแค่ระยะผ่านที่จะหมดโดยเร็ว ทั้งที่ควรรู้ว่า การลงทุนภาคเอกชน เป็นกลจักรที่สำคัญที่สุด เคียงคู่การส่งออก แถมยังมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ในขณะที่มีขีดจำกัดของรัฐบาลในการลงทุนมาก
การ “หดตัว” ของการลงทุนดังกล่าว นายบรรยงระบุว่า “เห็นแล้วใจแป้วมากๆ เลย” เพราะเท่ากับว่า ปี 2558 หดตัว -17% ปี 2559 หดอีก -2% แถมปีนี้ ทำท่าจะหดได้มากถึง -3.5%
นายบรรยงใช้ถ้อยคำที่ดูรุนแรงเหลือเชื่อว่า “น่ากลุ้มใจจนอยากเอาตีนก่ายหน้าผาก” เพราะถ้าเทียบกับ GDP ยิ่งต้องกุมขมับเข้าไปใหญ่ เพราะมันต้องลดมากกว่านี้อีก
ในแวดวงธุรกิจแล้ว คำวิพากษ์ดังกล่าว คือเสียงสะท้อนที่รุนแรงที่สุดในรอบปี 2560 นี้ หลังจากผ่านมา 4 เดือนแรกของปีไปไม่นาน ทำให้เกิดคำถามตามมาหลายอย่างว่า
– เหตุใดนายบรรยง (ซึ่งเป็นหนึ่งใน “คนวงใน” ที่รู้เรื่องราวภายในกลุ่มชนชั้นนำร่วมสมัยของสังคมไทยยามนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งนัก ไม่แพ้ “นายเก่าในอดีต” ที่เคยร่วมงานกันมายาวนานอย่าง “พี่ช้อย” นายวิโรจน์ นวลแข) จึงแปรพักตร์จากรัฐบาลชุกนี้อย่างเปิดเผย ทั้งที่เคยสนับสนุนละร่วมงานกันมาโดยสมัครใจตั้งแต่การรัฐประหารปี 2558
– เป้าหมายที่แท้จริงของนายบรรยงในการออกมาวิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจนี้ มุ่งไปที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์โดยรวม หรือ มุ่งไปที่ใครบางคนในทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นหัวหน้าทีม
– นายบรรยงเป็นตัวของตัวเองโดยลำพัง หรือเป็น “ก้อนหินถามทาง” ที่มีคนกลุ่มหนึ่ง (ที่มีพลังมากพอ) อยู่เบื้องหลัง ซึ่งพร้อมจะท้าทายคนที่ตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์ทั้งโดยตรงหรืออ้อม
– ชะตากรรมของนายบรรยงในอนาคตอันใกล้หรือปานกลาง จะเป็นเช่นใด ( เช่นมีทหารมาเยี่ยมบ้าน หรือถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ หรือ หายตัวไปโดยไร้ร่องรอย หรือ ฯลฯ)
คำตอบทั้งหมด ยังไม่มีความชัดเจน เพราะว่าภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่มีทหารในกองทัพเป็นแกนนำยามนี้ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ไม่สามารถจะใช้มาตรฐานใดๆ มาเทียบเคียงได้
ความจริงแล้ว สัญญาณเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นขาลง ได้มีมานานนับตั้งแต่มีการพูดถึงคำ “กับดักของชาติรายได้ปานกลาง” (middle income trap) ที่เรียกร้องให้ปรับยุทธศาสตร์จากการพึ่งพาการส่งออกเข้มข้น มาเป็นการลงทุนและการบริโภคในประเทศแทนเพื่อสร้างดุลยภาพใหม่ แต่ความขัดแย้งที่ซับซ้อนของกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมไทย ทำให้นักคิดและชนชั้นนำไทยลืม หรือเมินเฉยว่า เศรษฐกิจขาลงเที่ยวนี้ต่างกับเที่ยวก่อนๆ
เศรษฐกิจไทยยามขาลงรอบล่าสุดนี้ แตกต่างจากอดีตตรงที่ แม้จะมีเสถียรภาพการเงินที่ยังเข้มแข็ง แต่ปัญหาร้ายแรงอยู่ที่เศรษฐกิจที่แท้จริงในภาคการผลิตและบริการ (real sector) เป็นขาลงรุนแรง เพราะการส่งออกซบเซา เนื่องจากเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ ส่งผลต่อการลงทุนใหม่และการจ้างงานที่ถดถอยลงต่อเนื่อง
ระเบิดเวลาของนายบรรยงวานนี้ว่าด้วย “ทำไมเอกชนไม่ยอมลงทุน” จึงมีสาระสำคัญที่ต้องช่วยกันร่วมหาคำตอบที่เป็นทั้งเศษเสี้ยว และองค์รวมอย่างบูรณาการ ไม่ใช่แค่การค้นหา(แบบทฤษฎีสมคบคิดและแมคเคียเวลลี) ว่า ทำไมเห็บสยามจึงกระโดดหนีจากสุนัขตัวที่ใกล้ตาย ไปหา “นายใหม่” อันเป็นสูตรสำเร็จทางอำนาจที่ง่ายเกิน
ว่าตามจริงแล้ว ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า คำตอบน่าจะเป็นอะไร