TPIPP แม่ยกตัวจริง

มีคนตั้งประเด็นทำนอง “หาเรื่อง” เอาว่า หุ้นโรงไฟฟ้าจากขยะที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงลิ่ว และมีแม่ยกชั้นดีส่งเสียงเชียร์ไม่เคยขาด อย่าง บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่ฟันกำไรสุทธิไตรมาสแรกระดับนิวไฮ 698 ล้านบาท แต่คิดเป็นกำไรต่อหุ้นแค่ 0.117 บาท หรือ 11.7 สตางค์ ราคาหุ้นจะขึ้นไปสูงตามเป้าหมายได้อย่างไร


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

มีคนตั้งประเด็นทำนอง “หาเรื่อง” เอาว่า หุ้นโรงไฟฟ้าจากขยะที่มีอัตรากำไรสุทธิสูงลิ่ว และมีแม่ยกชั้นดีส่งเสียงเชียร์ไม่เคยขาด อย่าง บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ที่ฟันกำไรสุทธิไตรมาสแรกระดับนิวไฮ 698 ล้านบาท แต่คิดเป็นกำไรต่อหุ้นแค่ 0.117 บาท หรือ 11.7 สตางค์ ราคาหุ้นจะขึ้นไปสูงตามเป้าหมายได้อย่างไร

โจทย์ดังกล่าว เกิดจากการตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณหุ้นที่มากเกินไปของ TPIPP ทำให้เป็นหุ้นที่ “หนัก” และขาดเสน่ห์ เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดล่าสุดที่ราคาหลุดจองใต้ 7.00 บาท

ข้อสังเกตดังกล่าว ดังก้องในความทรงจำของนักลงทุนจำนวนมากที่พร้อมจะขายเมื่อราคาใกล้ 7.00 บาท โดยยอมตัดขาดทุนอย่างโดยสมัครใจ

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP เปิดเผยว่า ในงวดไตรมาสแรก บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 698 ล้านบาท เติบโต 9.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 636 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายไฟฟ้าและสินค้า รวมทั้งรายได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในไตรมาสแรกจำนวน 1,167 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 2.75% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยมีรายได้รวม 1,263 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

กำไรที่โตไม่มาก แต่ทำนิวไฮโดดเด่นเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งบริษัท เกิดจากการดำเนินงานเป็นหลักล้วนๆ จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ส่งผลให้สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในไตรมาสแรกรวม 197.10 ล้านหน่วย สูงกว่าปีก่อน

กำไรที่สวยงาม ยังเป็นแค่จุดเริ่มที่โดดเด่น เพราะในปีนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าใหม่อีก 3 โรงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 290 MW รวมเป็น 440 MW โดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน-RDF 70 MW (TG 7) ได้ผ่านการพิจารณารายงาน EIA แล้ว คงเหลืออีก 2 โรง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายงาน EIA จากภาครัฐ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

แม้กำไรสวยงาม แต่ราคาหุ้นก็ยังคงแน่นิ่งแถว 6.60-6.70 บาทต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ความเฉยเมยของนักลงทุนในตลาด ลุกลามแพร่กระจายไปถึงการทำทองไม่รู้ร้อนต่อข่าวดีจากคณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายปันผลระหว่างกาล จากกำไรสะสม เป็นเงินสดในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น รวมเป็นจำนวนเงิน 840 ล้านบาท (รวมเสียภาษีด้วย)  โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD (ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิปันผล) วันที่ 19 พ.ค. 2560

กำไรสะสมที่ตกค้างมาจากปี 2559 นี้ ถือว่าเป็นการปลอบโยนและปลอบขวัญนักลงทุนที่ “ติดดอย” จากการจองซื้อหุ้น TPIPP

ผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรก ซึ่งทำได้สดสวย ดีกว่าที่คาดไว้ และจากค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นในกลางปีนี้ จำนวน 12.52 สตางค์/หน่วย จะช่วยหนุนรายได้ของ TPIPP

แล้วก็ยังมีเรื่องค่าเอฟทีที่จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน-ธันวาคมอีกระลอกหนึ่ง

นักวิเคราะห์ขาเชียร์ก็เลยยังต้องทู่ซี้เชียร์ต่อไปไม่รู้จบ…จะเพราะด้วยเหตุผลใดก็ยากคาดเดา…โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2560 ที่ต่างกันระหว่าง 8.10-8.50 บาท โดยอาศัยมุมมองว่า จ่ายปันผลสิ้นปีนี้ไตรมาสละประมาณ 0.08-0.10 บาท ทำให้อัตราเงินปันผลตอบแทนสูง 5%

เสน่ห์ของ TPIPP ที่นักวิเคราะห์มองเห็นอยู่ที่พื้นฐานผลประกอบการตลอดปี้นับแต่ไตรมาสสองถึงไตรมาสสุดท้ายจะยังคงทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องพอกพูนขึ้น จากหลายปัจจัยคือ 1) การผลิตของโรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) ราคาขายไฟเพิ่มขึ้น 3) ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิง RDF ลดต่ำลง  4) ในไตรมาส 4Q60 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากที่โรงไฟฟ้าใหม่กำลังการผลิตรวม 290 MW เริ่ม COD

มีการประเมินล่วงหน้า (ซึ่งไม่รู้ว่าผิดหรือถูก) ว่าสิ้นปี 2560 นี้ กำไรสุทธิของ TPIPP จะอยู่ที่ระดับ 3,096 ล้านบาท เพิ่มมากกว่า 70% แต่การที่ TPIPP มีกระแสเงินสดในมือสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทหลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หนี้ลดลงสวนทางกัน โดยเหลือหนี้เงินกู้เพียง 2.4 พันล้านบาท และมีภาระต้องลงทุนในปีนี้ไม่มากนัก 6.8 พันล้านบาท ทำให้อาจพิจารณาปันผลมากขึ้น

มีแต่เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมราคาหุ้นที่พี/อีล่าสุดอยู่ที่แค่ 9 เท่าเศษ ซึ่งถือว่าต่ำมาก กลับแน่นิ่งสนิทเสมือน ไม่หือไม่อืออะไรทั้งสิ้น

คำอธิบายเบื้องต้นมีอยู่ว่า แรกสุดนักลงทุนกลัวชื่อของประธานกรรมการบริษัทที่ชื่อ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ …ไม่รู้ว่าเข็ดขยาดอะไรกันมาบ้างในอดีต…แค่เอ่ยชื่อก็เกิดอาการ ขนแขนสแตนด์อัพ กันแล้ว

เหตุผลข้างต้นก็คงไม่มีอะไรมาก นอกจากประเด็นเล่าลือเรื่องอารมณ์ศิลปินเดี่ยวของเสี่ยประชัยนั่นเอง

เหตุผลต่อมา สไตล์การบริหารของคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ดูเหมือนจะมี “โลกส่วนตัว” พอสมควร แม้จะแปลงร่างเป็นบริษัทมหาชนแล้ว..ก็ยังทำตัวประหนึ่งเป็นบริษัท “สมบัติส่วนตัว” ไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างง่ายๆ ใน รายงานผลประกอบการสำหรับงบการเงินสิ้นไตรมาสแรก แทนที่จะมีคนลงนามทำการแทนเป็นนายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  กลับปรากฏชื่อของนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะ รองประธานกรรมการบริษัทแทน

คงทราบกันดีว่า นางอรพิน ไม่ใช่คนอื่นไกล… ศรีภริยา หรือแม่ยกตัวจริง ที่นายประชัยเคารพรักและเทิดทูนนั่นเอง

คำถามคือ แล้วใครจะไม่เชื่อล่ะว่า  TPIPP มีประธานหุ่น และประธานจริง ที่เป็นคนละคนกัน

“อิ อิ อิ”

Back to top button