GL กำไร Q1/60 “ออลไทม์ไฮ” จับตาผู้สอบฯระบุหมายเหตุประกอบงบฯ

GL ประกาศกำไร Q1/60 "ออลไทม์ไฮ" แตะ 328.13 ลบ. เติบโต 47% จากปีก่อน 222.17 ลบ. จับตาผู้สอบฯระบุหมายเหตุประกอบงบฯ หลังเคยตั้งข้อสังเกตประเด็นปล่อยกู้แก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์


บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.60 (รวมบริษัทย่อย) ดังนี้

ทั้งนี้บริษัทประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 1/60 กำไรสุทธิ 327.36 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรรายไตรมาสที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดยเพิ่มขึ้น 105.19 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.35 เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 1/2559 กำไรที่เพิ่มขึ้นสูงมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกผลเช่าซื้อ การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกผลจากสินเชื่อแก่ผู้บริโภคโดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม และการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น

 

ขณะที่ รายงานการสอบทาน และงบการเงินระหว่างกาล สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย โดย นายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เลขทะเบียน 3182 บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ได้ให้ความเห็น 3 ประเด็นหลักดังนี้

1. เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 3,421 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 (คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สุทธิรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560) (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559: 3,477 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สุทธิรวม)

ทั้งนี้ให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 8 เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับว่า ธุรกิจหลักของบริษัทฯคือให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ บริษัทฯได้ดำเนินการนอกธุรกิจหลักโดยได้ให้เงินกู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่มในจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ

โดยบริษัทฯได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์  และบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัสและสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งผู้กู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯด้วยและได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทฯมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว

สำหรับเงินให้กู้ยืมเหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศ และหุ้นของบริษัทฯซึ่งถือโดยผู้กู้

ทั้งนี้บริษัทฯได้แจ้งต่อข้าพเจ้าว่า มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน (รวมถึงหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถูกตีมูลค่าด้วยราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560) มีมูลค่าเพียงประมาณร้อยละ 74 ซึ่งต่ำกว่ามูลหนี้ไปร้อยละ 26  ของจำนวนเงินให้กู้ยืมของผู้กู้กลุ่มไซปรัส และมีมูลค่าประมาณร้อยละ 126 ซึ่งเพียงพอและเกินกว่าจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ (31 ธันวาคม 2559: มูลค่าหลักประกันของเงินให้กู้ยืมทั้งสองกลุ่มคิดเป็นร้อยละ 106 และ ร้อยละ 238 ตามลำดับ)

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของบริษัทฯในตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนและมีการซื้อขายเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาสี่เดือนที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นอยู่ในช่วงราคา 12.4 บาทต่อหุ้น ถึง 65.5 บาทต่อหุ้น

ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีต่อมูลหนี้ของลูกหนี้เหล่านี้  ถ้าไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัทฯที่นำมาค้ำประกันแล้ว (ตามหลักความระมัดระวังที่พึงปฎิบัติในการวิเคราะห์มูลค่าหลักประกัน หุ้นของบริษัทผู้ให้กู้ยืมเงิน ไม่ควรถูกคำนวณนับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ที่บริษัทนั้นได้ให้กู้ยืม) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 57 และร้อยละ 53 ของจำนวนเงินให้กู้ยืมของผู้กู้สองกลุ่มนี้ตามลำดับ ซึ่งต่ำไปร้อยละ 43 (ประมาณ 627 ล้านบาท) และต่ำไปร้อยละ 47 (ประมาณ 910 ล้านบาท) (31 ธันวาคม 2559: มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดเป็นร้อยละ 60 และ ร้อยละ 53 ตามลำดับ)

ทั้งนี้ ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีกำหนดชำระคืนเงินต้นแตกต่างกันตามระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี โดยมีกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันสิ้นสุดของสัญญา มีลูกหนี้บางรายที่เมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระเงินต้นคืนในระหว่างปี 2559 แต่บริษัทย่อยได้ขยายตารางการชำระหนี้ให้ลูกหนี้เหล่านั้นออกไปอีก 2 – 3 ปี

โดยยอดเงินให้กู้ยืมที่มีการแก้ไขสัญญาขยายตารางการชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 2,129 ล้านบาท (59 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) ซึ่งหนี้ที่มีการขยายตารางการชำระหนี้ คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าเงินให้กู้ยืมทั้งหมด ในระหว่างไตรมาสปัจจุบัน บริษัทย่อยในสิงคโปร์ได้ให้เงินกู้แก่ลูกหนี้กลุ่มไซปรัสเพิ่มประมาณ 70 ล้านบาท (2 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) ทำให้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ยอดเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 3,421 ล้านบาท (99 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)

ขณะที่หลังจากวันที่ในงบการเงินในเดือนเมษายน 2560 ผู้กู้กลุ่มไซปรัสได้จ่ายชำระคืนเงินให้กู้ยืมก่อนกำหนดคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 422 ล้านบาท (12 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) การจ่ายชำระคืนเงินให้กู้ยืมก่อนกำหนดดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ทั้งสองกลุ่มครอบคลุมเพียงพอจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่มนี้ หากหลักทรัพย์ค้ำประกันได้รวมถึงหุ้นของบริษัทเองด้วย (มูลค่าด้วยราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2560) เท่ากับร้อยละ 105 และร้อยละ 129 ของจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่มนี้ตามลำดับ

ทั้งนี้หากไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัทฯที่นำมาค้ำประกันแล้ว มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่ากับร้อยละ 80 และร้อยละ 53 ของจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่มนี้ตามลำดับ ความผันผวนของราคาหุ้นของบริษัทฯในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการคืนเงินกู้ก่อนกำหนดของผู้กู้เป็นปัจจัยสองประการสำคัญในการวิเคราะห์มูลค่าหลักประกันต่อมูลหนี้ของหนี้สองกลุ่มนี้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาของเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้อยู่ในช่วงร้อยละ 14.5 ถึง 25 ต่อปี ดอกเบี้ยรับในระหว่างไตรมาสปัจจุบันจากลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีจำนวน 143 ล้านบาท (เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับประมาณร้อยละ 17) ซึ่งจำนวนเงินนั้นคิดเป็นร้อยละ 42 ของกำไรรวมของบริษัทฯในไตรมาสปัจจุบัน โดยผู้กู้ทั้งกลุ่มไซปรัสและสิงคโปร์ได้ชำระดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดแล้วในเดือนเมษายน 2560 ทำให้ ณ วันที่ 11 เมษายน 2560 ไม่มีดอกเบี้ยคงค้างจากผู้กู้ทั้งสองกลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้บริษัทฯได้แจ้งต่อข้าพเจ้าว่า ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีการจัดตั้งอย่างมั่นคงและเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันกับบริษัทฯ และบริษัทฯได้มีการตรวจสอบเป็นการภายในต่อลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้แล้วและพิจารณาว่าเชื่อถือได้ ผู้กู้สองกลุ่ม “กลุ่มไซปรัส” และ “กลุ่มสิงคโปร์” เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบทางกฎหมายเพื่อการกู้ยืมเงินกับบริษัทฯ ตามความเห็นของเรา การที่บริษัทมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจกับสองกลุ่มผู้กู้นี้ เช่น ในด้านระยะเวลาของเงินกู้และการชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนด ทำให้มองได้ว่าเป็นรายการที่อาจจะไม่มีอิสระในการต่อรองเสมือนต่างบุคคลแต่ใกล้กับลักษณะการทำธุรกิจร่วมกันหรือการร่วมค้า ในขณะที่บริษัทยืนยันว่าผู้กู้ทั้งสองกลุ่มไม่ได้เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และอิสระจากกันโดยเป็นลักษณะดั่งธุรกิจแบบปกติ

 

2. เงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา – จำนวนประมาณ 2,567 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560

ทั้งนี้ ให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 14 เกี่ยวกับเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา บริษัทย่อยได้เข้าทำการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกาแห่งหนึ่งในจำนวนร้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ในราคาซื้อ 2,462 ล้านบาท โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ซึ่งบริษัทย่อยซื้อหุ้นดังกล่าวบางส่วน (จำนวนร้อยละ 22.27 ของหุ้นทั้งหมด) จากบริษัทผู้ขายที่มีกรรมการผู้หนึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯด้วย ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 – 2,500 ล้านบาท

ขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท ฝ่ายบริหารประเมินว่าราคาซื้อคิดเป็นประมาณ 8 เท่าของกำไรของบริษัทร่วมดังกล่าว

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 หุ้นดังกล่าวแสดงไว้เป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินรวมด้วยวิธีส่วนได้เสียด้วยจำนวนเงิน 2,567 ล้านบาท (31 ธันวาคม 2559: 2,545 ล้านบาท) มูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ในวันสิ้นไตรมาสปัจจุบัน มีประมาณ 855 ล้านบาท (ณ วันสิ้นปี 2559: 1,285 ล้านบาท) มูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 2,567 ล้านบาท มีผลต่างที่เป็นสาระสำคัญอย่างมากเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่มีประมาณ 855 ล้านบาท

โดยบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในบริษัทร่วมดังกล่าวแบบระยะยาว ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ เชื่อว่าโอกาสทางธุรกิจของการดำเนินงานของบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาและความร่วมมือกันกับบริษัทฯมีความสำคัญมากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้นจากความผันผวนของตลาด ฝ่ายบริหารของบริษัทฯยังเชื่ออีกว่าเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศศรีลังกามีปริมาณน้อย และไม่ใช่ตลาดที่ซื้อขายคล่อง ดังนั้นราคาหุ้นปัจจุบันจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นปัจจัยหลักอย่างเดียวในการพิจารณามูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนระยะยาว

สำหรับความสมเหตุสมผลของมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตจากการที่บริษัทฯได้มีส่วนร่วมลงทุนด้วยในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจด้านการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ในประเทศที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่พัฒนาและระดับความสำเร็จในอนาคตที่จะได้รับจากการนั้น

 

3.หุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทฯ

สำหรับแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพรายหลักของบริษัทฯ ผู้ลงทุนรายหลักนี้ถือเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกันของบริษัทฯ ภายใต้มาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป จำนวนเงินที่ลงทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมามีจำนวนเงินมากกว่า 7,000 พันล้านบาท หรือ 210 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (หุ้นกู้แปลงสภาพบางส่วนได้มีการแปลงสภาพเป็นทุนแล้ว) เงินทุนที่ได้รับจากผู้ลงทุนรายหลักนี้เกินกว่าร้อยละ 30 ของแหล่งเงินทุนทั้งหมดที่บริษัทได้ใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมแก่ผู้กู้สองรายดังกล่าว และการลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา ตามที่กล่าวไว้ตามข้อ (1) และข้อ (2)

 

Back to top button