หลัง 3 ปีแห่ง ‘ความสงบ’

สื่อพาดหัวข่าว “ประยุทธ์เซ็ง” ไม่แถลงผลงาน 3 ปี คสช.เสียแล้ว หลังถูกยกเป็นประเด็นโจมตี จะรวบไปแถลงทีเดียวพร้อมรัฐบาลในเดือนกันยายน ทั้งที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งสั่งทุกหน่วยงานเตรียมการแถลงใหญ่


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

สื่อพาดหัวข่าว “ประยุทธ์เซ็ง” ไม่แถลงผลงาน 3 ปี คสช.เสียแล้ว หลังถูกยกเป็นประเด็นโจมตี จะรวบไปแถลงทีเดียวพร้อมรัฐบาลในเดือนกันยายน ทั้งที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งสั่งทุกหน่วยงานเตรียมการแถลงใหญ่

อันที่จริงถ้าย้อนดู 2 ปี คสช.ก็ไม่เห็นแถลงอะไรเยอะ เน้น 2 ปีรัฐบาลมากกว่า ฟังข่าวทีแรกยังแปลกใจ ทำไม 3 ปีต้องแถลงใหญ่ หรืออยู่ในช่วงนับถอยหลัง อยากตอกย้ำให้คนจดจำ “3 ปีแห่งความสงบ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา ไว้วางใจ” ตามคำกล่าวของ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

แหม ไม่เห็นจำเป็นขนาดนั้น เพราะผลงานรัฐบาล คสช. ก็กรอกหูชาวบ้านผ่านวิทยุทีวีอยู่ทุกวัน

แต่นั่นแหละ พอ คสช.จะแถลงผลงาน ก็เหมือนรายการ “เชิญแขก” กินโต๊ะ ไม่ใช่แค่ 2 พรรคใหญ่ ขนาดดุสิตโพลยังมีประชาชน 75% อยากให้ชี้แจงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 83% อยากให้เน้นแก้ปากท้องในปีถัดไป คสช.จึงคิดได้ว่าไม่แถลงดีกว่า รอไว้เดือนกันยา เพราะเชื่อว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดี

สังเกตไหม นักการเมืองกินดีหมีหัวใจเสือ วิพากษ์วิจารณ์ คสช.หนักขึ้น ขนาดวิลาศ จันทรพิทักษ์ ยังไล่ มท.1 พ้นเก้าอี้ ข้อหาปล่อยให้มีโกงบ้าเลือดใน กปภ. ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยคงไม่แปลกอะไร แต่ช่วงนี้ ประชาธิปัตย์ซัดชุดใหญ่ บ้างก็ให้ปรับ ครม.เศรษฐกิจ บ้างก็วิพากษ์รัฐราชการรวมศูนย์อำนาจยิ่งทำให้เกิดคอร์รัปชั่น

วิษณุ เครืองาม เย้ยนักการเมืองกลัวชาวบ้านลืม ขณะที่นายกฯ โต้นักการเมืองว่าสร้างปัญหามาแต่อดีต เลือกตั้งใหม่ก็จะได้คนมีปัญหาอีก รัฐบาลนี้เข้ามาปฏิรูปประเทศ ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน 200% อย่ามาว่าไม่มีผลงาน ฯลฯ

ว่าที่จริงไม่ใช่แค่นักการเมืองที่วิจารณ์ นักวิชาการเช่น อ.พรายพล คุ้มทรัพย์ ก็เรียกร้องว่าถึงเวลาเลือกตั้ง เมื่อมองให้กว้างออกไป รัฐบาลก็กำลังขัดแย้งหลายด้าน จากกฎหมายคุมสื่อ วันนี้มาถึงร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งจะอ้างความมั่นคงจำกัดเสรีภาพออนไลน์ และมีผลต่อเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0 อย่างช่วยไม่ได้

ทำไมแรงต้านรัฐบาลทหารจึงกว้างขวางและยกระดับ ใช่ครับ ใกล้เลือกตั้ง ใกล้ถึงเวลาเขย่าขวด จัดส่วนแบ่งอำนาจกันใหม่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือหลายฝ่ายเริ่มตระหนักว่า ต่อให้มีเลือกตั้ง สูตรอำนาจก็ไม่เปลี่ยนไป โครงสร้างที่วางไว้จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่พรรคการเมืองไปถึงชาวบ้าน ด้วยกฎหมายหลายฉบับที่ออกใหม่ เช่น พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ร.บ.สื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งจะเปลี่ยนประเทศเป็นรัฐความมั่นคงภายใต้ระบอบรวมศูนย์อำนาจราชการ

ระบอบรวบอำนาจอย่างนี้ เป็นอะไรที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน หลังพ้นยุคเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม หลังรัฐบาลหอย ตั้งแต่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สังคมไทยก็อยู่ในระบอบ “แบ่งปัน” ซึ่งแม้อำนาจไปไม่ถึงมือประชาชน แต่ก็มีความอะลุ่มอล่วยระหว่างชนชั้นนำและพลังต่างๆ ไม่ว่าข้าราชการ นักการเมือง ภาคธุรกิจ ประชาสังคม ที่เป็นตัวแทนคนชั้นกลาง

เพิ่งมีครั้งนี้ที่ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จมา 3 ปี แม้ดูเหมือนแป๊บเดียวแต่นี่คือระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จที่อยู่ยาวทีสุดใน 4 ทศวรรษ โดยระบอบนี้จะยังอยู่ต่อไป แม้ได้ชื่อว่ามีเลือกตั้ง

บางคนอาจแย้งว่า “ระบอบทักษิณ” ก็รวบอำนาจเหมือนกัน แม้มาจากเลือกตั้ง ใช่ครับ แต่นั่นไง ทักษิณก็ถูกรุมกินโต๊ะ ทั้งที่ยังรวบอำนาจไม่ได้มากขนาดนี้ด้วยซ้ำ

Back to top button