“ไร้น้ำยา”จัดการIFEC
หุ้น IFEC หรือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดเครื่องหมาย SP (ห้ามการซื้อขาย) ยาวมาตั้งแต่ 12 ม.ค. 60 แล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลด SP กลับมาซื้อขายได้เมื่อใด
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
หุ้น IFEC หรือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดเครื่องหมาย SP (ห้ามการซื้อขาย) ยาวมาตั้งแต่ 12 ม.ค. 60 แล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะปลด SP กลับมาซื้อขายได้เมื่อใด
เป็นหุ้นที่มากไปด้วยสตอรี่พลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ในแต่ละวันมีการซื้อขายติดอันดับมูลค่าสูงสุด และเป็นหุ้นที่มีรายย่อยถือครองสูงถึง 29,931 ราย
ราคาหุ้นเคลื่อนไหวฉูดฉาด เคยสูงสุดถึง 17 บาทและมาปิดราคาสุดท้ายก่อนโดนตลาดฯแขวนป้ายที่ 3.10 บาท
การสร้างความหวือหวาในตลาดหุ้น ย่อมทำให้บริษัทได้รับเครดิตในการก่อหนี้ไม่น้อย
แค่เป็นบริษัทที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพียงแค่ 37 เมกะวัตต์และเป็นเจ้าของโรงแรมดาราเทวีที่เชียงใหม่เนี่ยนะสามารถจะก่อหนี้ได้ถึง 8,500 ล้านบาท
แยกเป็นหนี้ตั๋วบี/อี 3,500 ล้านบาท หนี้หุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท และหนี้กู้ยืมสถาบันการเงิน 2,000 ล้านบาท
หนี้ทุกประเภทที่ถึงกำหนดการชำระ ต้องกลายเป็นหนี้ผิดชำระหมด และทุกอย่างกำลังจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น ซึ่งก็โน่นแหละ ขัดแย้งคู่แรกคือหมอวิชัย ถาวรวัฒนยงค์กับสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์
ต่อมาสิทธิชัยยอมยกธงขาวในตำแหน่งบริหารออกไป หมอวิชัยยังอยู่ ทวิช เตชะนาวากุลเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้นประมาณ 10% ก็เลยเกิดคู่ขัดแย้งใหม่หมอวิชัย-ทวิช
ตามความเข้าใจทั่วไปแล้วหมอวิชัยซึ่งถือหุ้นน้อยกว่ามาก มีหุ้นอยู่ในมือแค่ 2% กว่าเท่านั้น ก็น่าจะถอยและยอมยกอำนาจบริหารให้กับฝ่ายทวิชซึ่งมีหุ้นมากกว่ามากและก็ยังมีเสียงหนุนจากสิทธิชัยอีก 5% ไป
แต่ที่ไหนได้ หมอวิชัยนอกจากจะไม่ถอยแล้ว ยังงัดบทพลิกแพลงกฎหมายออกมาสู้ ทำให้ที่นั่งบอร์ดใน IFEC จากที่เป็นเสียงข้างน้อย 4:5 กลายเป็น 5:4 ได้ ฝ่ายทวิชต้องกลายเป็นเสียงข้างน้อยไปเลย
บริษัทมีแต่ความป่นปี้เพราะความไม่สมบูรณ์ของบอร์ดบริหารก็เลยทำอะไรไม่ได้ จนบัดนี้แม้แต่งบผลประกอบการปี 59 ก็ยังรายงานตลาดไม่ได้เลย
เจ้าหนี้ก็โดนเบี้ยวหนี้ ผู้ถือหุ้นก็ลำบาก ทั้งเสียหายจากการ “ติดดอย” และจะ “ออกตัว” ขายหุ้นก็ทำไม่ได้ อนาคตมีแต่จะเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯก็รู้ปัญหาดี แต่ไม่สามารถจะเข้าไปแก้ปัญหาอะไรได้
รพี สุจริตกุล เลขาธิการก.ล.ต. ถึงกับให้สัมภาษณ์เปิดปากรับสภาพว่า เป็นเรื่องภายในบริษัท ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจจะเข้าไปจัดการเรื่องภายในบริษัทได้
ฟังแล้ววังเวงชอบกลนะครับ!
เนื้อแท้ของเรื่องนี้ก็คือ ฝ่ายหมอวิชัยใช้กฎหมายมาตรา 70 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชนเฉพาะบางส่วนที่เป็นประโยชน์กับตนคือการโหวตแบบคะแนนสะสมหรือที่เรียกว่า Cumulative Voting
นั่นคือการโหวตกรรมการบอร์ดล่าสุด 3 ที่นั่ง ซึ่งเป็นที่นั่งในโควต้ากลุ่มทวิช
ฝ่ายหมอวิชัยต้องการได้แค่ 1 ที่นั่งเดียว ก็จะกุมเสียงข้างมากเป็น 5 เสียง ก็เลยใช้เสียงในมือแค่ครั้งเดียวแต่คูณ 3 เข้าไป ส่วนทวิชเป็นภาคบังคับ ต้องใช้หุ้นในมือลงคะแนนแบบทีละคนโดยไม่มีตัวคูณ
ถึงได้แพ้ไปตรงคนที่ 3 บอร์ด IFEC จึงแปรเปลี่ยนจากฝ่ายหมอ 4:5 กลายเป็นฝ่ายหมอ 5:4
แต่ก็อย่างที่ผมเรียนไว้แต่ต้นล่ะครับว่า ฝ่ายหมอวิชัยใช้กฎหมายเพียงบางส่วน เฉพาะที่เป็นคุณกับตนเท่านั้น
เพราะ กฎหมายพ.ร.บ.บริษัทมหาชนฉบับนี้ระบุไว้แต่ต้นในมาตรา 70 เลยว่า “ถ้ามีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ใช้โหวตแบบสะสมไม่ได้”
ข้อบังคับนี้ มีชื่อหมอวิชัยลงนามหราคู่กับสิทธิชัยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ และกระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ได้จดทะเบียนรับรองไว้แล้วตั้งแต่ 18 มิ.ย. 2557 ด้วย
เผอิญกฎหมายบริษัทมหาชนอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ เหตุ IFEC มาเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของก.ล.ต.
ถ้าหน่วยงานรับผิดชอบคือกระทรวงพาณิชย์ไม่ทันเกม ก.ล.ต.ก็น่าจะชี้ช่องไปยังกระทรวงพาณิชย์ได้นี่นา มันน่าจะ เหมือนกับก.ล.ต.ส่งเรื่องให้ดีเอสไอที่เคยปฏิบัติกันมา
แต่นี่ไม่ IFEC แทนที่จะเป็นหนังสั้นกลับกลายเป็นหนังยาว ก่อความป่นปี้แก่ทุกฝ่าย และสร้างรอยมลทินแก่ตลาดหุ้นไทย