สรุปผลประกอบการ Q1/60 “กลุ่มโรงพยาบาล”
“ข่าวหุ้นธุรกิจ” รวบรวมผลประกอบการบริษัทไตรมาส 1 ปี 60 ของกลุ่มอุตสาหกรรม “โรงพยาบาล” ทั้งสิ้น 18 บริษัท โดยมีการซื้อขายในตลาดรอง SET ว่าบริษัทไหนสามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้อย่างโดดเด่น และบริษัทไหนสร้างผลงานที่ถดถอยลงไป อีกทั้งบริษัทไหนทำผลงานน่าผิดหวังขาดทุนนั่นเอง
จากข้อมูลที่บริษัทต่างๆ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์อัพเดตผลประกอบการไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 พบว่า บริษัทกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ RJH, LPH, SVH, VIBHA, BCH และ BH ขณะที่บริษัทกำไรสุทธิลดลง ได้แก่ CHG, NTV, BDMS, EKH, CMR, SKR, M-CHAI, VIH, RPH และ AHC ส่วนบริษัทขาดทุน ได้แก่ KDH และ NEW
สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลในไตรมาส 1 ปี 60 ภาพรวมพบว่า ผลการดำเนินงานหดตัวลงเสียส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดีสำหรับบริษัทที่ทำกำไรโดดเด่นและเห็นชัดมากที่สุดของกลุ่ม คือ บริษัท โรงพยาบาลราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ RJH กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 60 กลับดีกว่าคาดเป็น 59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 41.65 ล้านบาท โดยมีแรงเสริมจากรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ รายได้จากภาษีที่มีการบันทึกเป็นจำนวน 18.5 ล้านบาท
รองลงมาเป็น บริษัท โรงพยาบาล ลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 60 สามารถทำกำไรสุทธิได้ 47.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.90% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 42.14 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากประกันสังคมเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีรายการพิเศษ คือ กำไรจากการซื้อบริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์แห่งเอเชีย (AMLC) จำนวน 8.6 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมจะได้กำไรปกติอยู่ที่ 41 ล้านบาท
ส่วนบริษัทที่ผลการดำเนินงานน่าผิดหวังขาดทุนในช่วงไตรมาส 1 ปี 60 พบว่า บริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEW ผลการดำเนินงานพลิกขาดทุน 3.83 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.46 ล้านบาท อันเนื่องจากรายได้ลดลงเกิดจากจำนวนผู้ป่วยที่ลดน้อยลง ประกอบกับบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้มี บริษัท ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ KDH ที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 60 ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 9.32 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7.07 ล้านบาท เหตุจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น อย่างต้นทุนค่ารักษาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เพื่อขยายบริการทางการแพทย์ ทำให้ต้องมีการจ้างแพทย์เฉพาะทาง และบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาและบริการเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มขึ้น
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทที่สามารถสร้างผลกำไรสุทธิโดดเด่น กับบริษัทที่ผลขาดทุน เพื่อจะได้รู้ว่าโรงพยาบาลไหนยังได้รับความนิยมในการรักษา
ส่วนภาพรวมผลกำไรสุทธิทั้งกลุ่มโรงพยาบาล ติดตามรายละเอียดที่น่าสนใจได้จากตารางประกอบ
ตามตัวเลขผลดำเนินงาน แม้ว่าบางบริษัทดูเหมือนว่ายังสดใส แต่ผลกำไรไตรมาส 1 กลับหดตัว แบบว่าโอกาสยังคงมีอยู่ในทุกวิกฤติเสมอ
อีกทั้งยังมีเรื่องที่ต้องกังวล เมื่อนักวิเคราะห์มองว่ากำไรปกติในไตรมาส 2 ปี 60 ของกลุ่มโรงพยาบาลจะทำจุดต่ำสุดของปีเนื่องจากเป็นช่วง Low season ของธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งเป็นฤดูร้อนคนมักจะไม่ค่อยป่วยนั่นเอง
ส่วนกำไรสุทธิกลุ่มโรงพยาบาลจะกลับมาโตได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปี 60 เนื่องจากไตรมาส 3 ปี 60 จะเป็นช่วง High season ของธุรกิจโรงพยาบาลเพราะเป็นช่วงฤดูฝน คนมักจะป่วยเยอะ