SAWAD กำจัดจุดอ่อน

วันนี้ จะเป็นวันที่หุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่เกิดจากการจ่ายปันผลในปี 2559 เป็นหุ้น...ชนิดเหนียวกันสุดๆ 25 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล (บวกเงินสดเพื่อเสียภาษี)... ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จำนวน 41,818,902 หุ้น จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก แต่นี่เป็นแค่เศษเสี้ยว เพราะมีเรื่องสำคัญกว่าสำหรับอนาคตรออยู่ข้างหน้า


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

วันนี้ จะเป็นวันที่หุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่เกิดจากการจ่ายปันผลในปี 2559 เป็นหุ้น…ชนิดเหนียวกันสุดๆ 25 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล (บวกเงินสดเพื่อเสียภาษี)… ของบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD จำนวน 41,818,902 หุ้น จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก แต่นี่เป็นแค่เศษเสี้ยว เพราะมีเรื่องสำคัญกว่าสำหรับอนาคตรออยู่ข้างหน้า

แผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่ออนาคต ของ SAWAD ที่แถลงโดย นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการของ SAWAD น่าสนใจกว่าหลายเท่า

วันอังคารที่ผ่านมา  นางสาวธิดา ออกมาตอกย้ำแผนธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่ของกลุ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ …เพื่อกันคนลืมว่า เป็นมากกว่าแผนธุรกิจ “แบบบ้านๆ” แต่เป็นแผนลึกล้ำโดยมีสาระใหญ่ใจความย่นย่อคือ

  • เปลี่ยนชื่อบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาธร จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT เป็น บริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)
  • วางแผนว่า ภายใน 3-5 ปีจะขยายฐานลูกค้ารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเป็น 2-3 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 แสนราย
  • วางแผนบุกหนักตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV รวมถึงอินโดนีเซีย เพื่อผลักดันให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2564 จากขณะนี้อยู่ที่ราว 1%

เป้าหมายสูงสุดในแผนนี้กำหนดจะสร้างกลุ่มบริษัทศรีสวัสดิ์ให้เป็น “สถาบันการเงินทางเลือกใหม่ มั่นคง โปร่งใส ให้บริการที่สะดวกเป็นกันเอง ภายใต้กรอบกฎหมายและการกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย”

พูดกว้างๆ แบบนี้ เท่ากับสร้างไฟท์บังคับ ให้ต้องย้อนความเดิมเพื่อหารากเหง้าของแผน เพื่อความสมเหตุสมผล

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559  SAWAD ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้น หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ หุ้นของ BFIT พร้อมกับเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเพื่อปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่

เหตุผลที่อธิบายคือ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับยุทธศาสตร์แห่งอนาคตเป็นอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งจากเงินสดของบริษัท และจากเงินในกระเป๋าของผู้มีเงินออม…แตกต่างไปจากการระดมทุนจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน หรือออกตราสารหนี้ประเภทแบบเดิมๆ

แผนดังกล่าว คือปรับให้ SAWAD เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ที่ไม่มีการประกอบกิจการของตนเอง (non-operating holding company) โดยชื่อ จะเปลี่ยนจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ Srisawad Group Holding Plc. แต่ยังคงจะใช้ชื่อรหัสย่อ SAWAD ในการซื้อขายในตลาดหุ้นต่อไป แล้วสร้างบริษัทย่อยใต้โครงสร้าง 3 ราย (ทั้งสร้างใหม่และดัดแปลงของเดิม) คือ

  • บริษัทศรีสวัสดิ์ 2014 จำกัด รับโอนสินทรัพย์ไมโครไฟแนนซ์ทั้งหมด จาก SAWAD ไปดำเนินการ (ไม่มีการโอนพอร์ตสินเชื่อระหว่างกัน) ในรูปสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน (personal loan)
  • BFIT ในชื่อใหม่ ขยายบริการสินเชื่อแบบมีหลักประกันในประเภทที่ไม่ทับซ้อนกัน
  • บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน และนาโนไฟแนนซ์

เหตุผลที่อ้างเพื่อปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ประกอบด้วย 1) เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล 2) มีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง และมีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นจากฐานเงินฝากใหม่และเดิมของ BFIT ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของ SAWAD 3) ลดความเสี่ยงทางการเงินของ SAWAD เนื่องจาก BFIT อยู่ใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

ครั้งนั้น นักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” พากัน คาดว่าจะเพิ่มกำไรให้ SAWAD ได้ประมาณ 5% ประเมินราคาเป้าหมาย SAWAD ปลายปีนี้ ที่ระดับ 50.00 บาท …แต่ราคาหุ้นปัจจุบันของ SAWAD ก็ทะลุ 53 บาทเข้าไปแล้ว โดยไม่ทันปรับ

ยุทธศาสตร์ของ SAWAD ที่ย้ำอีกครั้ง ได้ถูกออกแบบให้มีเครื่องมือเร่งโตอย่างแนบเนียน และ “เขี้ยวลากดิน”…นั่นคือ สร้างให้โฮลดิ้งที่แบกรับความเสี่ยงจากบริษัทลูกใต้ร่มธงต่ำสุด เป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” ในการระดมทุน

เกมนี้ บริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT เดิม จะกลายเป็นแกนหลักในการระดมทุน ด้วยการออกตั๋ว PN (promissory notes) เพื่อระดมทุน…ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกันกับการรับฝากเงินของธนาคาร โดยมีอัตราดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนนั่นเอง… แล้วก็เอามาปล่อยก็ให้กับ 2 บริษัทย่อยในเครือ SAWAD ให้ไปหากำไรอีกต่อ

ตราบใดที่เครื่องจักรทำกำไรในอนาคต อย่างบริษัท ศรีสวัสดิ์ 2014 จำกัด และบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งขัน และมีฐานระดมทุนขนาดใหญ่กว่าเดิม…ประเด็นเรื่องต้นทุนและกำไรขาดทุนของบริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) ก็ไม่มีนัยสำคัญอีกต่อไป…ชิล ชิล

SAWAD ที่จะเป็นโฮลดิ้ง ก็ไม่ต้องแบกภาระของบริษัทย่อย ปล่อยให้ดูแลตัวเอง …รอรับรู้แต่ผลตอบแทนของเงินลงทุน และเงินปันผล…เท่านั้น

แนวโน้มกำไรในอนาคตของ SAWAD จะมีแต่กำไรเพิ่ม เพิ่ม และ….เพิ่ม

ถึงตรงนี้ หลายคนคงถึงบางอ้อ …ถึงความสำคัญของการที่SAWAD ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เป็นการ “ให้บริการที่สะดวกเป็นกันเอง ภายใต้กรอบกฎหมายและการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย” ในยุทธศาสตร์นี้ มากแค่ไหน….

“อิ อิ อิ”

Back to top button