กลุ่มแบงก์ร่วงต่อ กูรูปรับลดประมาณการกำไรปี 58-59 ลง ชู 2 หุ้น Top picks น่าลงทุน

โบรกเกอร์ปรับน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เท่ากับตลาด โดยหุ้น Top picks เลือก KBANK (FV@300 บาท) จาก ROE สูงสุดในกลุ่มฯ พร้อมศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ โดดเด่น พร้อมทั้งเลือก BBL (FV@210 บาท) ขึ้นเป็น top pick แทน KTB จากประสิทธิภาพในการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 11.01 น. ราคาอยู่ที่ 20.90 บาท ลบ 0.60 บาท หรือ 2.79% สูงสุดที่ 21.40 บาท ต่ำสุดที่ 20.80 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 2.51 พันล้านบาท

ส่วนราคาหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ราคาอยู่ที่ 223 บาท ลบ 3 บาท หรือ 1.33% สูงสุดที่ 225 บาท ต่ำสุดที่ 222 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 861.51 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้นธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ราคาอยู่ที่ 188.50 บาท บวก 1 บาท หรือ 0.53% สูงสุดที่ 189 บาท ต่ำสุดที่ 187.50 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 275.88 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ราคาอยู่ที่ 170.50 บาท ลบ 2 บาท หรือ 1.16% สูงสุดที่ 173 บาท ต่ำสุดที่ 170.50 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 347.94 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมลบ 0.05%

 

บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ระบุในบทวิเคราะห์ (23 เม.ย.) ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งที่ศึกษา มีกำไรสุทธิไตรมาส 1/58 เท่ากับ 5.23 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.1% จากไตรมาสก่อนและ 3.8% จากปีก่อน สูงกว่าคาดเล็กน้อย ด้วยปัจจัยหนุนจากการลดลงของค่าใช้จ่ายดำเนินงานหลังพ้นช่วงฤดูกาล และรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่โดดเด่นทั้งจากการขายกองทุนรวม และประกัน

นอกจากนี้ ยังเห็นการเติบโตที่ดีในกลุ่มรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ได้แก่ กำไรจากธุรกรรม Fx และกำไรจากการซื้อขายเงินลงทุนโดยเฉพาะพันธบัตรและตราสารหนี้ ขณะที่ภาพรวมธุรกิจหลักอื่นๆ ยังชะลอตัวซึ่งเป็นปกติในช่วงต้นปี ทั้งสินเชื่อ (หากไม่รวมประเด็น M&A ของ BAY กับ BTMU จะเห็นว่าสินเชื่อเติบโตเพียง 0.52% จากไตรมาสก่อน และ 7.84% จากปีก่อน) และ NIM หดตัวเล็กน้อยราว 2bp เหลือ 3.03% เนื่องจากการเติบโตของเงินฝากในอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อ ทำให้ ธ.พ. บริหารสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการปล่อยกู้ในตลาดเงินระหว่างธนาคารฯ และหาผลตอบแทนระยะสั้นส่งผลให้ yield ต่ำ บวกกับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-ฝากเฉลี่ยราว 0.125-0.25% ในช่วงกลางเดือน มี.ค.58 ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ยังค่อนข้างทรงตัว

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ พบว่าแย่กว่าคาด เนื่องจากเห็น NPL ที่เพิ่มขึ้นเกินคาดโดยเฉพาะ KTB ซึ่งจะแตกต่าง ธ.พ.อื่นๆ เพราะส่วนใหญ่เป็น NPL จากสินเชื่อเคหะ ขณะที่ ธ.พ.อื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อ SME ขนาดเล็ก จึงเป็นผลให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้นสูงเกินคาดมากจากงวดที่ผ่านมา โดย KKP, KBANK, BAY เป็น ธ.พ. ที่แสดงการเติบโตของกำไรสุทธิโดดเด่นสุดในงวดนี้สวนทางกับ TMB, TISCO, KTB ที่แสดงการหดตัวของกำไรสุทธิสูงสุดในงวดนี้

ทั้งนี้ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 58-59 ของกลุ่มฯ ลง 1.6% และ 0.5% จากเดิม โดยเป็นการปรับลดประมาณการของ KTB เพียงแห่งเดียว เพื่อสะท้อนแนวโน้มธุรกิจที่เติบโตต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่คาดไว้ต่ำไป ภายหลังปรับประมาณการ ทำให้คาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิของกลุ่มฯ เท่ากับ 7.7% จากปีก่อนและ 14.2% จากปีก่อนตามลำดับภายใต้สมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อสุทธิเท่ากับ 6.7% จากปีก่อน และ 8.1% จากปีก่อนส่วน NIM เชื่อว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังของปี 58 จะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากได้รับผลบวกเต็มที่จากต้นทุนเงินฝากระยะยาวที่ทยอยลดต่ำลง

โดยยังคาดหวังได้กับเป้าหมาย NIM ที่ 3.14% (กรณีที่อัตราดอกเบี้ยในระบบไม่ลดลงอีก)  สำหรับมุมมองธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2558 ยังมีความคาดหวังเชิงบวกมากขึ้นจากแผนการเร่งใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ รวมถึงผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้น สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2Q58 คาดว่าจะแผ่วตัวลง แม้จะเห็นค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่เริ่มผ่อนคลาย แต่จะถูกหักล้างไปด้วยการลดลงของ NIM ที่คาดว่าจะทำระดับต่ำสุดของปี บวกกับค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ทั้งนี้ได้ปรับน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เท่ากับตลาด โดยหุ้น Top picks เลือก KBANK (FV@300 บาท) จาก ROE สูงสุดในกลุ่มฯ พร้อมศักยภาพการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ โดดเด่น พร้อมทั้งเลือก BBL (FV@210 บาท) ขึ้นเป็น top pick แทน KTB จากประสิทธิภาพในการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่า

Back to top button