จับตา! เจ้าหนี้RICHลากไส้ไอ้โม่งไซฟ่อนเงิน จงใจล้มฯหวัง”แฮร์คัต”หนี้
จับตา! RICH จงใจแต่งบัญชีเป็น “ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว” ฟากเจ้าหนี้ 7 รายยื่นค้านแผนฟื้นฟูกิจการ ชี้บริษัทจัดทำงบการเงินเองโดยไม่ผ่านผู้สอบฯ และไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่กล่าวอ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 โดยให้เหตุผลว่า งบการเงินรวมของบริษัทในงวดไตรมาส 4/2559 มีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ซึ่งอาจข่ายต้องปรับปรุงฐานะการดำเนินงาน ขณะที่บริษัทเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และต้องดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนด และปัญหาของลูกหนี้ของบริษัทด้อยคุณภาพ ทำให้บริษัทอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ซึ่งบริษัทอ้างว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวจะสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยรวมได้ โดยศาลฯมีกำหนดไต่สวนคำร้องวันนี้ (29 พ.ค.)
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ของบริษัทบางส่วนแต่ถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดตามมูลหนี้ จำนวน 7 ราย ได้ร่วมกันยื่น คำคัดค้าน คำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ RICH ได้รายงานตัวเลขฐานะทางการเงิน ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ งวดประจำปี 2559 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2.62 พันล้านบาท และมีหนี้สินรวม จำนวน 2.56 พันล้านบาท โดยบริษัทได้ดำเนินการนำส่งงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ดังนั้นจึงอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวและเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการได้
อย่างไรก็ตาม RICH ไม่ได้ใช้งบประจำปี 2559 ซึ่งผู้ยื่นคำคัดค้านฯเชื่อว่า ณ ขณะนั้นได้มีการนำส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้ว สำหรับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ แต่มีการอ้างอิงถึงข้อมูลแสดงฐานะทางการเงินสิ้นสุด วันที่ 31 มกราคม 2560 ที่บริษัทจัดทำขึ้นเองโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบฯหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยงบดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้แทนนั้น แสดงตัวเลขสินทรัพย์รวม จำนวน 2.47 พันล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม จำนวน 2.56 พันล้านบาท
ขณะที่ ผู้ยื่นคำคัดค้านฯระบุว่า ผู้ร้องขอมีเจตนาจะจัดทำข้อมูลตามงบการเงิน ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 เพื่อแสดงความมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลตามที่ปรากฎในงบการเงินประจำปี 2559 ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวที่จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบงบปี 2559 ของบริษัท ได้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลูกหนี้การค้า และลูกหนี้อื่น เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างไตรมาส 4/2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการจัดทำงบเพื่อยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีรายงานตัวเลขการบันทึกดังกล่าวสูงถึง 699 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้การค้าทั้งหมดราว 1.84 พันล้านบาท ขณะที่ในระหว่างไตรมาส 1 ไม่พบการบันทึกใดๆ เกิดขึ้น ส่วนระหว่างไตรมาส 2 และไตรมาส 3 มีการบันทึกเป็นจำนวนที่เท่ากันคือ 5.96 ล้านบาทเพียงเท่านั้น
ด้านผู้ยื่นคำคัดค้านฯระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า การบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ RICH นั้น เป็นการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในไตรมาส 4/2559 เท่านั้น โดยอ้างอิงตามข้อเท็จจริงว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฏตัวเลขการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ระดับสูงขนาดนี้ อีกทั้งยังระบุด้วยว่า พฤติกรรมในการจัดทำงบการเงินดังกล่าวของบริษัทมีพิรุธว่า อาจเป็นการจงใจทำให้บริษัทซึ่งอยู่ในฐานะของลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
สำหรับการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะกระทำขึ้นต่อเมื่อบริษัทคาดว่า จะมีหนี้การค้าที่เรียกเก็บไม่ได้หรือต้องให้ส่วนลดในการรับชำระหนี้ ซึ่งบริษัทจะต้องนำจำนวนจากการบันทึกดังกล่าวไปหักออกจากบัญชีลูกหนี้รายนั้นๆ ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์รวมมีจำนวนลดลง อีกทั้งกรณีนี้ยังถือเป็นรายจ่ายทางบัญชีจำนวน 699 ล้านบาทด้วย ซึ่งหาก RICH ไม่มีการบันทึกในส่วนนี้เกิดขึ้นจะส่งผลให้การขาดทุนสุทธิในงบปี 2559 ลดลงจากประมาณ 1.10 พันล้านบาท เหลือเพียงราว 400 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อจำนวนลูกหนี้การค้าทั้งหมดย้อนหลังไปถึงปี 2553 พบว่า RICH มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในงบปี 2559 เป็นจำนวนที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยในระหว่างปี 2553-2556 บริษัทมีการบันทึกดังกล่าวตามจำนวนลูกหนี้การค้าที่เกินกำหนดชำระ 1 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน “1.28%” “0.96%” “0.65%” “0.73%” ตามลำดับ ส่วนปี 2557-2558 นั้น ไม่มีการบันทึก ขณะที่ปี 2559 มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในสัดส่วนสูงถึง 37.99%
ขณะที่ผู้ยื่นคำคัดค้านฯระบุต่อด้วยว่า นอกจากการ บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลูกหนี้การค้า แล้ว จำนวน 699 ล้านบาท ยังพบว่า RICH มีการ บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า อีกจำนวนราว 364 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 64% ของเงินที่บริษัทได้มีการชำระล่วงหน้าให้แก่คู่ค้าจำนวน 571 ล้านบาทแล้ว โดยการปฏิบัติดังกล่าวทำให้บริษัทต้องนำจำนวนค่าเผื่อไปหักออกจากจำนวนเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ซึ่งส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์รวมลดลงเช่นเดียวกัน
ด้านเจ้าหนี้รายหนึ่งของ RICH ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นอกเหนือจากเรื่องการใช้งบเดือนมกราคม ปี 2560 ประกอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอาจมาจากความจงใจที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินว่า คู่ค้าซึ่งเป็นลูกหนี้การค้าและผู้รับชำระค่าสินค้าล่วงหน้าสำหรับเงินจำนวนที่มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่ และจะมีวิธีทวงถามหนี้หรือสินค้าดังกล่าวได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังได้แสดงความต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตโดยการตกแต่งงบการเงินอย่างกรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกคำสั่งให้มีการเปิดเผยรายชื่อ รวมถึงรายละเอียดของคู่ค้าเหล่านั้นอีกด้วย