ไม่ง่าย! แผนเข้าฟื้นฟูกิจการ RICH ส่อชะงัก จับตามีจัดฉากหรือไม่?

แผนเข้าฟื้นฟูกิจการ RICH ส่อชะงัก หลังเจ้าหนี้ 20 ราย ร่วมยื่นค้าน ชี้ใช้งบฯ 1 เดือนไม่ผ่านผู้สอบฯและประชุมผู้ถือหุ้นยื่นศาลฯ จับตามีจัดฉากหรือไม่? หลังตั้งสำรองฯสูงปรี๊ด!


นายกุดั่น สุขุมานนท์ ทนายความหุ้นส่วน Kudun & Partners ในฐานะของผู้รับมอบอำนาจติดตามคดีการยื่นคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น.ถึงกรณีที่ RICH ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 โดยอ้างว่าบริษัทเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งขณะนี้ศาลฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนคำร้อง

โดยบริษัทใช้งบการเงินภายใน งวดเดือน มกราคม 2560 ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยแสดงตัวเลขสินทรัพย์รวม จำนวน 2.47 พันล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม จำนวน 2.56 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จึงเข้าข่ายเป็นผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวและสามารถยื่นคำร้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการได้

ขณะที่ในปี 2559 รายงานตัวเลขฐานะทางการเงินงวดประจำปี 2559 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 2.62 พันล้านบาท และมีหนี้สินรวม จำนวน 2.56 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวและเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการได้

ทั้งนี้นายกุดั่น ระบุว่า งบการเงินที่ RICH ใช้อ้างต่อศาลฯควรเป็นงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีและรับรองโดยผู้ถือหุ้น ซึ่ง RICH ควรอ้างอิงงบการเงิน ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2559 หรือ ไตรมาส 4/2559 ซึ่งเป็นงบการเงินที่กำลังจะผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี โดยงบการเงินในงวดดังกล่าว ประกาศ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2560 โดยแสดงตัวเลขสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน ซึ่งไม่เข้าข่ายผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ขณะที่ปัจจุบัน RICH มีจำนวนเจ้าหนี้เกินกว่า 100 ราย รวมมูลหนี้ 2.5 พันล้านบาท โดยล่าสุดมีเจ้าหนี้ที่ร่วมกันยื่นคัดค้านจำนวน 20 ราย รวมมูลหนี้ 2 พันล้านบาท ดังนั้นศาลฯจึงต้องพิจารณาคำคัดค้านของเจ้าหนี้ให้ครบทุกราย โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการชี้แจงรายละเอียดประมาณ 2-3 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจต้องเลื่อนการทำแผนฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้ในงบการเงินปี 2559 RICH มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลูกหนี้การค้า และซัพพลายเออร์ เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงส่งผลให้สินทรัพย์ของบริษัทลดลง เนื่องจากบริษัทตั้งสำรองสูงขึ้น

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า RICH อาจจะมีการจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้า แต่กำลังอยู่ในระหว่างรอรับสินค้า ซึ่งทางศาลฯจึงต้องมีการตรวจสอบว่า ซัพพลายเออร์หรือลูกหนี้การค้าที่ทำให้ RICH ต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากนั้น อาจเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือผู้บริหาร

ทั้งนี้ ในขั้นตอนทางกฎหมาย ต้องรอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ RICH ชี้แจงข้อมูลหรือนำส่งข้อมูล และเชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

Back to top button