LHBANK ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 10% คุม NPL ไม่เกิน 2%

LHBANK ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 10% หลังแนวโน้มความต้องการสินเชื่อช่วง 2H60 เพิ่มขึ้น คุม NPL ไม่เกิน 2% คาดกระบวนการเพิ่มทุนเสร็จในก.ค.


บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อและทรัพย์สินจะเติบโตได้ปีละ 10-15% ภายหลังจากที่ CTBC Bank Co., Ltd. จากไต้หวันเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 35.617%  ซึ่งกระบวนการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ CTBC เพื่อเข้ามาถือหุ้นนั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค. ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.นี้

นางศศิธร พงศธร (ฉัตรศิริวิชัยกุล) กรรมการผู้จัดการของ LHBANK เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนจาก CTBC แล้วจะส่งผลให้ฐานเงินทุนของ LHBANK โตกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มมาอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 หรือ Common Equity Teir 1 เพิ่มขึ้นเป็น 20.1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ 14.3%

อีกทั้งธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH bank) จะมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยแผน 5 ปี (ปี 61-65) ธนาคารจะเน้นขยายไปยังกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญ โดยธนาคารจะต้องมีการพัฒนาระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา ทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 61 อาจจะไม่สูงมากนัก แต่ยังคาดว่าสินเชื่อจะขยายได้มากกว่า 10% ในปี 61 และปี 62 คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากกว่า 15% เพราะบริการเทรดไฟแนนซ์ที่พัฒนาระบบแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินงานได้ไนช่วงปลายปี 61 เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม

ส่วนในปี 60 ธนาคารยังคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 6-10% แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 2-3% เท่านั้น เนื่องจากความต้องการสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นหากภาครัฐเดินหน้าลงทุนโครงการต่าง ๆ อย่างชัดเจนมากขึ้น

โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อจากรายใหญ่ 65% ซึ่งเป็นลูกค้าที่มียอดขายต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอี 14% ซึ่งเป็นลูกค้าที่มียอดขายต่อปีมากกว่า 100 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 18-19% โดยสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงจากช่วง 5 ปีก่อนที่อยู่ระดับ 50% เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยลดลงตามภาวะอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง โดยอัตราปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารอยู่ที่ 30%

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่จากสินเชื่อเอสเอ็มอี หลังธุรกิจเกิดการสะดุดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยปีนี้ธนาคารยังคงรักษาระดับ NPL ไม่ให้เกิน 2% จากไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 1.89% ซึ่งธนาคารยังคงนโยบายตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อรักษาอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้อยู่ในระดับ 111-115% ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระดับดังกล่าว แต่ต้องยอมรับว่า NPL ยังคงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ในระยะยาวเราตั้งเป้าให้สินทรัพย์รวมแตะ 4-5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.15 แสนล้านบาท โดยไม่ได้ตั้งเป้าจะต้องขึ้นไปเป็นล้านล้านบาท เพราะเราจะเน้นทำธุรกิจที่มีความชำนาญ โดยพันธมิตรเราจะเข้ามาเสริมสิ่งที่ขาด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และ เทรดไฟแนนซ์จะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 61″นางศศิธร กล่าว

อนึ่ง LHBANK จะเพิ่มทุนจดทะเบียน 7.54 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท เสนอขายต่อ CTBC Bank Co., Ltd. ในลักษณะการขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ที่ราคาหุ้นละ 2.20 บาท รวมเป็นเงิน 1.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุในสัญญาจองซื้อหุ้น (Share Subscription Agreement) ระหว่างบริษัทและ CTBC เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.59 โดยภายหลังการเพิ่มทุน CTBC จะเข้ามาถือหุ้นใน LHBANK สัดส่วน 35.617% ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่ากับสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันของบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) โดย LH และ QH จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 21.879% และ 13.738% ตามลำดับ

ด้านนายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานกรรมการบริหารของ LHBANK เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาทางการไต้หวัน (FSC) ได้อนุญาตให้ CTBC สามารถซื้อหุ้นเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทได้ และเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 60 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ CTBC เข้าเป็นผู้ร่วมทุนของบริษัทได้เช่นกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาอนุญาตในเรื่องดังกล่าว

ขณะเดียวกันในวันที่ 12 ก.ค. 60 จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อให้พิจารณาอนุมัติการออกและจัดสรรหุ้น PP เสนอขายต่อ CTBC และเพื่อขอพิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท (Whitewash) ซึ่งคาดว่ากระบวนการเพิ่มทุนจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนก.ค. 60

ตอนนี้กระบวนการเพิ่มทุนให้กับ CTBC ถือว่าเสร็จสิ้นเร็วกว่าที่เราคาดไว้ในช่วงเดือนก.ย. มาเป็นสิ้นเดือนก.ค.นี้ เพราะกระบวนการต่าง ๆ ของไต้หวันและไทยเร็วกว่าที่เราคาดไว้ ทำให้การเดินหน้ากระบวนการเพิ่มทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหลังเพิ่มทุนจะมีตัวแทนจาก CTBC เข้ามานั่งใน LHBANK 2 คน ในช่วงแรก และจะเพิ่มมาอีก 1 คน ภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีกรรมการในคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน”นายรัตน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายอนันต์ อัศวโภคิน ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการ และกรรมการ ของ LHBANK จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อีกทั้งทาง FSC และ CTBC ได้ทราบเรื่องแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นกังวลต่อประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะที่นายอนันต์ ก็ไม่ได้ถือหุ้นใน LHBANK แม้แต่หุ้นเดียว

อย่างไรก็ตามนายอนันต์ คงถือหุ้นทางอ้อมผ่าน LH และ QH ที่มาถือหุ้นอยู่ใน LHBANK คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมราว 12% ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น LHBANK อีก 88% เป็นการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นที่ซื้อหุ้น LHBANK บนกระดานในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากการเพิ่มทุนให้กับ CTBC สัดส่วนการถือหุ้นทางอ้อมใน LHBANK จะลดลงเป็น 9%

ทั้งนี้หลังจากการลาออกของนายอนันต์ ทำให้ปัจจุบันธนาคารจะต้องสรรหาประธานกรรมการคนใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหาบุคลากรในแวดวงการเงินการธนาคารของไทยเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน โดยคาดว่าภายในเร็วๆ นี้จะนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นประธานกรรมการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และจะนำเสนอต่อธปท. เพื่อพิจารณาต่อไป โดยบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ LHBANK จะเป็นบุคคลภายนอกเครือ LH และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความสามารถทางด้านการเงินและการธนาคาร

สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนแบบ PP ให้กับ CTBC มูลค่า 1.66 หมื่นล้านบาท จะเข้ามาใน LHBANK เท่านั้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของธนาคารในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่ได้มีการแบ่งผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบันทั้ง 2 ราย คือ LH และ QH

Back to top button