การเมืองเรื่องค่าเงิน

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าดอลลาร์ที่เคยอ่อนยวบ กลับแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักของโลกจากหลายปัจจัยคือ ตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสแรกดีกว่าคาดมาก ท่าทีโอเปกที่พร้อมเจรจากับกลุ่มเชลล์ออยล์สหรัฐฯ ในการผลิตน้ำมันเพื่อฮั้วกัน และความล้มเหลวในการประชุม G-7 จากฝีมือโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ค่าบาทเทียบดอลลาร์กลับแข็งขึ้นจนเกือบปิดตลาดหลุดไปใต้ 34.00 บาทต่อดอลลาร์


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าดอลลาร์ที่เคยอ่อนยวบ กลับแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักของโลกจากหลายปัจจัยคือ ตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาสแรกดีกว่าคาดมาก ท่าทีโอเปกที่พร้อมเจรจากับกลุ่มเชลล์ออยล์สหรัฐฯ ในการผลิตน้ำมันเพื่อฮั้วกัน และความล้มเหลวในการประชุม G-7 จากฝีมือโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ค่าบาทเทียบดอลลาร์กลับแข็งขึ้นจนเกือบปิดตลาดหลุดไปใต้ 34.00 บาทต่อดอลลาร์

ค่าบาทที่แข็งสุดในรอบ 22 เดือน เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา สวนทางตลาดอื่น เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการทางเงินของ ธปท. หรือ กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามคาด และยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ กนง.ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

ผลลัพธ์คือ นักเก็งกำไรในตลาดเงิน ตีความใหม่ว่า การปรับภาษาของ กนง. ในลักษณะนี้ เชื่อว่า ทางการไทยอาจเข้าดูแลตลาดน้อยลง จึงมีปฏิบัติการ “ลองภูมิ” ขึ้นมา เพื่อดูว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว ทางการไทยโดยเฉพาะ ธปท. จะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

ผลของการ “ลองภูมิ” ก็เป็นอย่างที่เห็นคือ นอกจากทำให้ ธปท.ขาดทุนหนักจากการออกพันธบัตรมาดูดซับการไหลเข้าของดอลลาร์ ยังส่งผลให้บรรดาบริษัทส่งออก และบริษัทจดทะเบียนที่มีสินค้าส่งออกมาก พากันขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนตามไปด้วย ในกรณีที่ไม่ได้ทำการซื้อความเสี่ยงล่วงหน้าเอาไว้

ผลข้างเคียงที่ชัดเจนคือ บาทแข็งที่เกิดจากฟันด์โฟลว์ ทำให้ตลาดตราสารหนี้เป็นขาขึ้นชั่วคราว มีความคึกคักอย่างมากโดยเฉพาะแรงซื้อพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น ที่ถือเป็นแหล่งหลบที่ปลอดภัยและทำกำไรได้ เพียงแต่ความคึกคักดังกล่าว ไม่ส่งอานิสงส์มาที่ตลาดหุ้นไทยมากนัก

จุดดีสุดที่ตลาดหุ้นไทยได้รับจากกระแสฟันด์โฟลว์เข้าแรงรอบนี้ จึงมีเพียงแค่ทำให้ดัชนีไม่ร่วงลงแรงเกินไป แต่ข้อเสียคือ มูลค่าซื้อขายที่แผ่วเบาลงอย่างชัดเจน เพราะราคาหุ้นฝืนธรรมชาติ โดยเฉพาะวานนี้ ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 3.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

หากประเมินการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ ซึ่งนับจากต้นปี ถือว่าแข็งค่าไปแล้วกว่า 5% อยู่ในอันดับต้นๆ ของสกุลเงินภูมิภาคเอเชีย จะพบว่า เกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ด้านพร้อมกันคือ ด้านแรก แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นแม้จะยังต่ำมาก หลังตัวเลขการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้นตามรายได้เกษตรกร รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ นอกเหนือจากการที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง

อีกด้านหนึ่ง ปัจจัยภายนอก มาจากค่าเงินดอลลาร์ยังเผชิญปัจจัยลบหลายประการ แม้ว่าเฟดจะพยายามยืนยันเสมอมาว่าพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จากข้อมูลที่ว่าเศรษฐกิจอเมริกันกำลังใกล้เป้าหมายของเฟด 2 เรื่องคือ เงินเฟ้อ 2% และ การจ้างงานเต็มที่ (ว่างงานต่ำกว่า 4.9%) ก็ไม่เป็นผลมากนัก เพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามพูดชัดเจนเสมอว่า ค่าดอลลาร์แข็งเกินไป โดยเฉพาะเทียบกับเงินหยวนจีน ต้องการให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง

ความขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับเฟดในเรื่องค่าดอลลาร์ที่ควรจะเป็น ยังไม่จบสิ้นง่าย เพราะแกนหลักของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้อยู่ที่ว่าค่าต่ำเกินไป หรือแข็งเกินไป แต่อยู่ที่ความแข็งแกร่งของยุทธศาสตร์ที่เป็นมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า ดอลลาร์สหรัฐ จะต้องเป็นเสาหลักของสกุลเงินทั่วโลก ไม่ปล่อยให้โลกเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐที่มีฐานะครอบงำเหนือโลกมาเกือบ 70 ปี แล้วหันไปใช้สกุลเงินอื่นแทน

การเดินทางเยือนตะวันออกกลางล่าสุดของทรัมป์ ที่สามารถขายอาวุธในวงเงินก้อนใหญ่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ซาอุดีอาระเบีย  ตามมาด้วยท่าทีผ่อนปรนของโอเปกที่จะหาทางเจรจากับผู้ผลิตเชลล์ออยล์ของสหรัฐฯ ในการผลิตน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ล้วนมีจุดหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น นั่นคือ การออกแบบให้ ค่าดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนสภาพจาก “เงินเลว” กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้เอาไว้ต่อไป

ภายใต้ภูมิทัศน์ของตลาดค่าเงินและเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ โอกาสที่ค่าบาทจะแข็งค่าต่อไปในระยะกลางและระยะยาว จึงไม่น่าจะยั่งยืนและทำให้ตื่นตระหนก เพียงแต่กระบวนการป้องกันตัวเองในระยะเฉพาะหน้าในยามที่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าของไทย ยังคงแปรปรวนไปกับเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยในการสร้างเกราะกำบังรับมือความแปรปรวนจากการไหลเข้าออกของทุนเก็งกำไรจากภายนอก

ทั้งที่ว่าไปแล้วเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ย และการแทรกแซงเพื่อรับมือกับสภาพคล่องที่มากเกิน น่าจะทำได้ แต่ก็ขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะติดยึดกับกระบวนทัศน์ที่ถ่วงรั้งเอาไว้ จนขาดความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์

ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง เพราะความสามารถการแข่งขันในตลาดส่งออกถดถอยลงรวดเร็ว ค่าบาทจะมีแนวโน้มที่อ่อนลง แต่ในระหว่างเส้นทางนั้น อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาหลบภัยและเก็งกำไรระยะสั้นรบกวนขึ้นได้ ซึ่งหากรู้เท่าทัน จะรับมือได้ล่วงหน้าอย่างยืดหยุ่น

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การที่ค่าดอลลาร์ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางการเมืองระดับโลกของสหรัฐฯ และปัจจุบันค่าหยวนของจีนและเยนของญี่ปุ่น ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เหตุใด ผู้บริหารของ ธปท.จึงปฏิเสธไม่ยอมรับให้ค่าบาทเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่มากกว่าจะอยู่ในแค่กำมือของเทคโนแครตที่ไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลย

Back to top button